นายกฯลงพื้นที่ตามปัญหาน้ำท่วม กทม.ยืดระยะเวลายื่นเรื่องช่วยเหลือน้ำท่วม
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้า จะลงพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำ โดยจะไล่ดูกันตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จะเป็นลักษณะการนำแผนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เพื่อดูข้อเท็จจริงว่าต้องมีการปรับอะไรเพิ่มเติม ซึ่งเบื้องต้นได้สั่งการไปหมดแล้ว จากงบประมาณที่มีการอนุมัติแล้ว และแผนต่างๆทุกกระทรวงรับทราบ ส่วนการขุดลอกคูคลองได้เริ่มแล้วในหลายพื้นที่อย่างในกรุงเทพมหานครก็มีการประชุมกันแล้ว โดยมอบหมายให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ไปหารือกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคงจะติดตามในรายละเอียดอีกครั้ง ระหว่างนี้คงจะขอเชิญชวนให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมช่วยกันในการขุดคลองด้วย
ขณะที่ในวันนี้ (3 ก.พ.) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะเดินทางไปเป็นประธานเปิดโครงการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ และเปิดทางน้ำไหลของกรุงเทพมหานคร
ขณะที่ นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงแนวทางการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติเงินเยียวยาประชาชนครัวเรือนละ 5 พันบาท จำนวน 1,087,242 ครัวเรือน งบประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท
ซึ่งทางกรุงเทพมหานครได้กำหนดขยายเวลาให้ประชาชนยื่นคำร้องที่สำนักงานเขตออกไปถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์นี้ จากนั้นสำนักงานเขตจะส่งข้อมูลไปยังสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 5 มีนาคม เพื่อส่งข้อมูลต่อไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในวันที่ 8 มีนาคม จากนั้น ก็จะส่งข้อมูลต่อไปยังธนาคารออมสินภายในวันที่ 15 มีนาคม เพื่อให้พร้อมจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัย
ส่วนการจ่ายเงินซ่อมแซมบ้านที่เสียหายตามหลักเกณฑ์ 5 รายการ ประกอบด้วย
1.บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 3 หมื่นบาท
2.บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 2 หมื่นบาท
3.เสียชีวิตรายละ 25,000 บาท และถ้าผู้เสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัวจะได้รับเพิ่มอีกรายละ 25,000 บาท
4.เงินช่วยเหลืออุปกรณ์ประกอบอาชีพรายละ 1 หมื่นบาท และ
5.ค่าเช่าบ้านจะจ่ายรายละไม่เกิน 2 เดือนในวงเงินเดือนละไม่เกิน 1,500 บาท
ทั้งหมดนี้กรุงเทพมหานคร จะเปิดให้ประชาชนยื่นเอกสารและหลักฐานได้ที่สำนักงานเขตถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์เช่นเดียวกัน
ซึ่งตามขั้นตอนสำนักงานเขตจะรวบรวมข้อมูลส่งไปที่ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร และส่งต่อไปยังสำนักการคลัง จากนั้นก็จะส่งต่อไปที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เมื่อเห็นชอบแล้วก็จะส่งงบประมาณกลับมาที่กรุงเทพมหานคร จากนั้นจะโอนให้กับธนาคารออมสินเพื่อจ่ายให้กับประชาชนเช่นกัน โดยคาดว่าต้องใช้งบประมาณ 20,000 ล้านบาท เบื้องต้น มีประชาชนมายื่นเรื่องแล้ว 50,862 ราย จากทั้งหมดประมาณ 1,000,000 ราย