สื่ออาเซียนถกปัญหา-ความท้าทายการทำข่าวยุค
วันนี้ (30 พ.ย.2558) สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์จัดสัมมนาในหัวข้อ "ผลกระทบของโซเชียลมีเดียต่อการนำเสนข่าวออนไลน์" ที่โรงแรมเดอะสุโกศล โดยมีบรรณาธิการและผู้บริหารสื่อจาก 8 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ เมียนมา ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์การทำข่าวออนไลน์ในปัจจุบันและผลกระทบจากการเติบโตของสื่อสังคมออนไลน์ต่อการทำงานของสื่อมวลชน
มาติกัส แซนโทส หัวหน้ากองบรรณาธิการเว็บไซต์ IQUIRER.net จากฟิลิปปินส์บอกว่าความสนใจของผู้คนในสื่อสังคมออนไลน์มีลักษณะเฉพาะ ดังนั้นผู้สื่อข่าวต้องจับทางให้ได้ เช่น เมื่อเร็วๆ นี้ เรื่องหนึ่งที่สังคมสื่อสังคมออนไลน์ในฟิลิปปินส์ให้ความสนใจมาก คือ เรื่องราวของผู้นำหน้าตาดีอย่าง "จัสติน ทรูโด" นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของแคนาดา และ "เอ็นริเก เนียโต" ประธานาธิบดีเม็กซิโก จำนวนคนที่เข้ามาอ่านข่าวนี้บนเว็บไซต์ INQUIRER เยอะมาก จนกระทั่งหนังสือพิมพ์รายวันยังต้องนำภาพผู้นำ 2 คนนี้ขึ้นหน้าหนึ่ง
ฟิลิปุส ปาเรรา บรรณาธิการข่าวสืบสวนสอบสวน Tempo Interaktif ของอินโดนีเซียกล่าวว่า ทิศทางการบริโภคข่าวของชาวอินโดนีเซียไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ คือ จำนวนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ลดลงขณะที่คนเสพข่าวทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้นมาก มีการคาดการณ์ว่าในปี 2018 ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในอินโดนีเซียจะเพิ่มเป็น 123 ล้านคน และผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเพิ่มเป็น 423 ล้านเลขหมาย แนวโน้มนี้ทำให้สื่อมวลชนต้องปรับตัวเพื่อรองรับพฤติกรรมการรับสื่อของผู้บริโภค แต่เขายอมรับว่าสื่อมวลชนอินโดนีเซียยังคงยึดติดกับการทำงานแบบสื่อในยุคเก่าและเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนความคิดให้กองบรรณาธิการคิดถึงการทำงานป้อนสื่อดิจิทัลก่อนสื่ออื่นๆ หรือที่เรียกว่า "digital-first concept"
นาจมุดิน นาจิฟ บรรณาธิการสื่อดิจิทัลจาก New Straits Times ของมาเลเซียกล่าวว่า มาเลเซียมีประชากรประมาณ 30 ล้านคน ชาวมาเลเซียใช้อินเทอร์เน็ตเยอะมาก สถิติล่าสุดที่พบว่ามีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหรือที่นาจิฟเรียกว่า "พลเมืองเน็ต" (netizen) มีมากถึง 20 ล้านคน และชาวมาเลเซียใช้เวลากับสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุดเป็นอันดับ 7 ของโลก นอกจากนี้ชาวมาเลเซียยังนิยมมีโทรศัพท์มือถือมากกว่าคนละ 1 เครื่องคือ ระบบแอนดรอยด์และ IOS อย่างละเครื่อง
"แต่ที่น่าสังเกต คือ สื่อมาเลเซียส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยให้ความสนใจกับการพัฒนาสื่อออนไลน์เท่าที่ควร ยังไม่เห็นถึงพลังและศักยภาพของมันอย่างเต็มที่ ข่าวออนไลน์ถูกมองว่าเป็น 'ลูกเลี้ยง' ที่พ่อแม่ไม่ค่อยให้ความสนใจ แต่ในระยะหลัง New Straits Times เริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นเพราะเห็นข้อจำกัดของสื่อสิ่งพิมพ์และคาดหวังว่าข่าวออนไลน์จะต้องมีทุกอย่างที่สื่อสิ่งพิมพ์ไม่มี"
สำหรับประเด็นเรื่องผลกระทบจากสื่อสังคมออนไลน์ต่อการทำงานของสื่อกระแสหลัก ผู้ร่วมสัมมนามีความเห็นตรงกันว่า มีผลกระทบทั้งในแง่บวกและลบ เป็นทั้งวิกฤตและโอกาส
แก้วชมพู ศักดาวงศ์ รองบรรณาธิการข่าวออนไลน์ หนังสือพิมพ์ Vientiane Times จากประเทศลาวให้ข้อมูลว่าปัจจุบันนี้ชาวลาวติดตามข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์มากกว่าสื่อกระแสหลัก ภาคธุรกิจจึงหันมาให้ทุ่มงบประมาณโฆษณาในสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียเนื่องจากเข้าถึงคนมากกว่าและค่าใช้จ่ายถูกกว่า ส่งผลให้รายได้จากการโฆษณาในหนังสือพิมพ์ Vientiane Times ลดลง
"ถ้าสื่อกระแสหลักไม่ปรับตัวโดยการใช้สื่อสังคมออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ในการขยายฐานผู้ชม/ผู้อ่าน หรือหาข้อมูลที่ลึกกว่า ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเนื้อหาที่แตกต่างจากข่าวสารที่ส่งต่อกันในสื่อสังคมออนไลน์ สื่อกระแสหลักก็จะอยู่รอดได้ยาก" แก้วชมพูให้ความเห็น
เล ทู เลือง บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์ VietnamNet จากประเทศเวียดนามกล่าวว่า สื่อสังคมออนไลน์มักจะเผยแพร่ข่าวที่เป็นกระแส รวมทั้งข่าวลือที่ยังไม่ได้รับการยืนยันหรือตรวจสอบข้อมูล เธอยกตัวอย่างข่าวลือในหมู่ชาวเวียดนามที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์เมื่อปี 2557 ว่าพบผู้ป่วยอีโบลารายแรกที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเวียดนาม และข่าวเรื่องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเวียดนามถูกลอบสังหาร ซึ่งเมื่อผู้สื่อข่าวของ VietnamNet ตรวจสอบแล้วพบว่าทั้ง 2 ข่าวนี้ไม่เป็นความจริง
"จุดอ่อนของข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์ คือโอกาสทองของสื่อกระแสหลักที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้อง รวมทั้งให้ข้อมูลและความรู้แก่ประชาชน" เล ทู เลืองสรุป