ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ยื่นหนังสือ จี้รัฐบาลทบทวนนโยบายหลักประกันสุขภาพฯ

สังคม
14 ก.พ. 55
14:03
14
Logo Thai PBS
ยื่นหนังสือ จี้รัฐบาลทบทวนนโยบายหลักประกันสุขภาพฯ

เครือข่ายรักหลักประกันสุขภาพภาคกลาง ยื่น 5 ข้อเสนอ เรียกร้องให้รัฐบาลพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน พร้อมทั้งเร่งผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข แทนการแก้กฎหมายขยายมาตรา 41

เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพ 8 จังหวัดภาคกลาง ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล ผ่าน รมว.สาธารณสุข เรียกร้องให้ทบทวนนโยบายการเก็บเงินสมทบ 30 บาท ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พร้อมทั้งสร้างระบบสุขภาพที่มีคุณภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการให้กับประชาชน ขณะเดียวกัน ควรเร่งผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข แทนการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 41 เพื่อจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นให้กับผู้ป่วยในระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ทบทวนนโยบายการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ หรือเมดิเคิลฮับ เพราะขัดต่อมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 ปี 2553 และส่งผลกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะปัญหาขาดแคลนแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุข ที่จะยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ จะถูกดึงตัวไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน ทำให้ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพฯ เข้าถึงบริการในราคาแพงขึ้น และมีคุณภาพน้อยลง และให้ทบทวนการสนับสนุนเงิน 4,000 ล้านบาท เพื่อให้บริการผู้ป่วยต่างชาติ รวมถึงเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อโรคในการรักษาพยาบาล ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้เท่ากับระบบสวัสดิการข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับหน่วยบริการและผู้รับบริการทุกคน

พร้อมกันนี้ ยังเรียกร้องให้ฝ่ายการเมืองหยุดแทรกแซง และให้กรรมการบอร์ด สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำงานได้อย่างอิสระ เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับผู้ใช้สิทธิ์ในระบบหลักประกันสุขภาพ ทั้ง 48 ล้านคน

ขณะที่นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ระบุว่า การเก็บเงินสมทบ 30 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อดีและข้อเสีย ว่าจะกลับมาเก็บเงินสมทบอีกหรือไม่ แต่ระหว่างนี้ก็จะเดินหน้าพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ โดยมุ่งเน้น 4 เรื่องหลัก ได้แก่ มีหมอใกล้บ้านใกล้ใจ, มียาดีใช้เพียงพอ, ไม่ต้องรอรักษานาน และจัดการโรคเรื้อรังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง