ภาคประชาสังคมยื่น 20,000 รายชื่อ-46 จังหวัด ร่วมชุมนุม ร้องนายกฯ ชะลอพิจารณาร่างกฎหมายจีเอ็มโอ
วันนี้ (9 ธ.ค.2558) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์คืบหน้า กรณีภาคประชาชนทั่วประเทศ คัดค้านร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพว่า นอกจากการแสดงออกของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อกฎหมายดังกล่าว โดยนัดชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัด 46 จังหวัดทั่วประเทศ ด้านกลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคมรวม 120 องค์กร ยังร่วมกันประกาศเจตนารมย์ และยื่น รายชื่อประชาชน 20,000 รายชื่อ ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านร่างกฎหมาย หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการร่างกฎหมายฉนับนี้ เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2558 โดย พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรับหนังสือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางเครือข่ายภาคประชาสังคมได้เรียกร้องในประเด็นสำคัญ ขอให้รัฐบาลชะลอร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ (จีเอ็มโอ) ที่อาจนำไปสู่การเปิดเสรีการปลูกพืชจีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการโดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าว พร้อมทั้งนำข้อเสนอแนะของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงนำหลักความปลอดภัยไว้ก่อนตามพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ มาพิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมายให้ครอบคลุมในทุกมิติ ก่อนเสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ในฐานะตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคมกล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เนื่องจากไม่ได้นำเอาหลักการป้องกัน และหลักการผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ตามพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งเป็นหลักการสากลมาบัญญัติไว้ อีกทั้ง กฎหมายฉบับดังกล่าวยังเจตนาเปิดให้มีการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม เป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการไม่ต้องรับผิดชอบ หากเกิดความเสียหายจากการปนเปื้อนพันธุกรรม ซึ่งส่งผลกระทบทั้งสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และผลทางเศรษฐกิจสังคม
“เราต้องสร้างมาตรการป้องกันพืชจีเอ็มโอ ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการด้านเกษตรและอาหาร ผู้บริโภค รวมถึงอธิปไตยและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ รวมทั้งยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของรัฐบาล ซึ่งทางภาคประชาสังคมจะตามติดเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องจากทางรัฐบาล และกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ” ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ระบุ
ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่างหมายดังกล่าวยังต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของ สนช. และการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภาคประชาสังคมในหลายจังหวัด ต่างเคลื่อนไหวร่วมคัดค้านร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพด้วยเช่นกัน เพราะเชื่อว่าจะกระทบต่อภาคการเกษตร และความมั่นคงทางอาหาร เช่น เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ร่วมกับ 8 ภาคีเครือข่าย แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการมอบกระเช้าผักปลอดสารพิษให้ จ.ขอนแก่น พร้อมอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้หยุดนำร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณา สนช. และขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากเกษตรกรและภาคธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบเพื่อปรับปรุงร่างกฎหมาย
เช่นเดียวกับ กลุ่มเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ จ.อุบลราชธานี จ.มหาสารคาม จ.ยโสธร จ.ศรีสะเกษ และ จ.ร้อยเอ็ด ที่ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ชะลอร่างกฎหมายจีเอ็มโอ เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้บัญญัติหลักการป้องกันผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ตามพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ
ส่วนในพื้นที่ภาคเหนือ กลุ่มชาวบ้านในนามเครือข่ายเกษตรกร และผู้ประกอบการอาหารเกษตรจำนวน 40 คน ได้รวมตัวหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมคัดค้านร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ โดยให้เหตุผลว่าร่างกฏหมายนี้อาจสร้างความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหาร ไม่ต่างจาก ภาคประชาชนใน จ.ลำปาง และ จ.แพร่ ที่เข้ายื่นหนังสือผ่านหัวหน้าส่วนราชการ เพื่อคัดค้านร่างกฎหมายจีเอ็มโอเช่นกัน พร้อมเรียกร้องให้แต่งตั้งคณะกรรมการที่มีตัวแทนของผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อปรับปรุงเนื้อหาก่อนเสนอ สนช.
ขณะที่ใน จ.สงขลา เครือข่ายภาคประชาชน 10 องค์กร จำนวน 100 คน ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์ดำรงธรรม เพื่อขอให้ชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ และเปิดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึงเพราะเกรงจะเกิดปัญหาจากกรณีพืชดัดแปลงพันธุกรรม ที่อาจปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และทำลายความหลากหลายทางชีวภาพในระยะยาว
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
- 000 รายชื่อ ค้าน ก.ม.จีเอ็มโอ
- thaipbs
- Thaipbsnews
- จีเอ็มโอ
- นายกรัฐมนตรี
- นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ
- ประยุทธ์ จันทร์โอชา
- ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี
- ภาคประชาชนร้องรัฐชะลอพิจารณาร่างกฎหมายจีเอ็มโอ
- ยื่น 20
- ร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ
- ศูนย์ดำรงธรรม
- สนช.
- สภาพัฒน์ฯ
- สรรเสริญ แก้วกำเนิด
- เครือข่ายภาคประชาสังคม
- โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
- ไทยพีบีเอส