ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คณะกรรมการฯแจงข้อสอบ "โอเน็ต" ไม่ชัดเจน ต้องการพัฒนาความคิดเชิงวิเคราะห์

สังคม
23 ก.พ. 55
00:44
24
Logo Thai PBS
คณะกรรมการฯแจงข้อสอบ "โอเน็ต" ไม่ชัดเจน ต้องการพัฒนาความคิดเชิงวิเคราะห์

ข้อสอบโอ-เน็ต ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักเรียนที่เข้าสอบ โดยนักเรียนระบุว่า ทั้งคำถาม และ คำตอบคลุมเครือไม่ชัดเจน ขณะที่คณะกรรมการออกข้อสอบ ชี้แจงว่า เป็นข้อสอบที่ต้องการให้นักเรียนพัฒนาด้านการคิดเชิงวิเคราะห์

ตัวอย่างคำถามในวิชา "สุขศึกษา" ถูกแสดงความเห็นอย่างแพร่หลายในสังคมออนไลน์ ถึงความเหมาะสม และ ความไม่ชัดเจน ทั้งคำถามและคำตอบ ซึ่งนักเรียนหลายคนมองว่า แม้จะเป็นข้อสอบที่เปิดโอกาสให้ได้คิดวิเคราะห์ แต่อาจไม่เกิดประโยชน์ในการนำไปใช้กับชีวิตจริง ไม่ใช่แต่เพียงวิชาสุขศึกษา ในวิชาศิลปะ และวิทยาศาสตร์ ยังมีคำถามอีกหลายข้อ ที่นักเรียนวิจารณ์ว่า ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการคิดเชิงวิเคราะห์ และ ไม่เหมาะกับความรู้ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก่อนเข้าสู่การเรียนในชั้นมหาวิทยาลัย

ขณะเดียวกันข้อสอบโอเน็ตปีนี้ ยังมีเสียงสะท้อนจากนักเรียนว่า วิชาที่เด็กมีปัญหาที่สุดคือ วิชาการเกษตร วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี รวมถึงวิชาศิลปะ ซึ่งข้อสอบไม่มีอยู่ในเนื้อหาที่เคยเรียนทำให้ไม่มั่นใจ และกังวลว่า วิชาเหล่านี้จะฉุดคะแนนโอเน็ต ซึ่งมีผลต่อการแอดมิทชั่นเข้ามหาวิทยาลัย

นักเรียนชั้น ม.6 กลุ่มหนึ่ง บอกว่า ข้อสอบบางข้อ ในการสอบโอ-เน็ต ไม่สามารถวัดผลทางศึกษาได้เพราะมีเนื้อหาจากหลักสูตรที่เรียนน้อยมาก และ นักเรียน แต่ละคนเลือกตอบได้ตามความเห็นส่วนตัว และ ประสบการณ์ของแต่ละคนที่ต่างกัน

ความเห็นของนักเรียนกลุ่มนี้ สอดคล้องกับ อาจารย์ประจำวิชาสุขศึกษา โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ที่มองว่า หากจะวัดผลทางการศึกษาเกี่ยวกับวิชาสุขศึกษาน่าจะเป็นการนำความรู้ด้านสุขภาพอนามัยไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับผู้อื่นมากกว่า

รศ.ชาญวิทย์ เทียมบุญประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักทดสอบทางการศึกษาและจิตวิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บอกว่า ข้อสอบของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติเกิดความผิดพลาดตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมาข้อสอบในลักษณะนี้ สะท้อนว่า ผู้ออกข้อสอบที่ยังขาดเทคนิคการตั้งคำถาม และ เลือกใช้ตัวเลือกที่เหมาะสมทำให้นักเรียนสับสน

ขณะที่นางอุทุมพร จามรมาร ที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการแผ่นดิน อดีตผู้อำนวยการ สทศ. บอกว่า ปกติแล้วข้อสอบต้องไม่กำกวม และต้องเป็นข้อเท็จจริงเพื่อไม่ให้มีข้อสงสัย หรือ ถ้าเป็นข้อสอบประเภทความคิดน่าจะต้องมีทฤษฎี หรือ แบบเรียนรองรับ

ในอดีตเคยมีปัญหาในลักษณะนี้มาแล้วซึ่งแม้ข้อสอบจะมีคำตอบที่ถูกต้องแต่ในทางปฏิบัตินักเรียนอาจยึดจากหลักปฏิบัติของตนเอง ซึ่งลักษณะนี้อาจต้องย้อนกลับไปดูที่การเรียนการสอบว่า การสอนในชั้นเรียนถ้าหากพบว่า เป็นการสอนในลักษณะความคิดเห็นข้อสอบแบบนี้ก็ไม่ควรมีอยู่ เพราะการสอบโอเน็ตเป็นการสอบเพื่อวัดผลการเรียนการสอน

ขณะที่ รศ.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการ สทศ. ตัวแทนหน่วยงานคณะกรรมการออกข้อสอบ บอกว่า ขณะนี้ยังไม่พร้อมชี้แจงรายละเอียดข้อสอบที่ถูกวิจารณ์ แค่คาดว่าภายใน 2 วัน จะแถลงรายละเอียดทั้งหมดได้

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง