วันนี้ (29 ม.ค. 2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ต้องเร่งมือก่อสร้าง แต่แรงงานมาเลเซียเชื้อสายไทย ขอใช้เพลงไทยสร้างความบันเทิงขณะก่ออิฐฉาบปูนสร้างอาคารวัดประชุมธาตุชนาราม ในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เพราะแรงงานข้ามชาติขาดแคลน ทำให้ชาวบ้านต้องช่วยสร้างวัดกันเอง หลายคนจึงคาดหวังว่าหลังเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ทางการมาเลเซียจะผ่อนปรนให้แรงงานเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การพัฒนาด้านต่างๆ ของรัฐกลันตัน เติบโตได้รวดเร็ว
ไม่แตกต่างไปจากสภาพของร้านอาหารต้มยำกุ้ง ที่เจ้าของเข้ามาทำธุรกิจร้านอาหารไทยในรัฐกลันตันมานานกว่า 15 ปี
ทายาทรุ่นที่ 2 ของร้านบอกว่า ทำเลของร้านซึ่งอยู่ติดชายแดนมาเลเซียและ จ.นราธิวาส ของไทย ทำให้ประกอบธุรกิจไม่ยากนัก เพราะวัตถุดิบและแรงงานในร้านส่วนใหญ่มาทำงานแบบเช้าไปเย็นกลับ ซึ่งแตกต่างจากร้านต้มยำกุ้งร้านอื่นๆ ในมาเลเซีย ที่มักประสบปัญหาเรื่องขาดแคลนแรงงานที่ถูกกฎหมาย เนื่องจากทางการมาเลเซียการกวดขันในการออกใบอนุญาตทำงานหรือ เวิร์กเพอร์มิส อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการขอวีซ่าทำงานสูงถึงปีละเกือบ 30,000 บาท ดังนั้น การเปิดเออีซีอาจเป็นประตูเชื่อมให้การเข้ามาทำงานของกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มาเลเซียสะดวกมากขึ้น
ปัจจุบันมีแรงงานไทยในมาเลเซียประมาณ 300,000 แสนคน แต่มากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานผิดกฎหมาย โดยเฉพาะแรงงานในร้านอาหารต้มยำกุ้ง ร้านนวด และแรงงานก่อสร้าง ซึ่งตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค. 2558 ที่ผ่านมา กรมตรวจคนเข้าเมืองของมาเลเซียได้กวาดล้างแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายภายในประเทศอย่างน้อย 500,000 คน ทำให้แรงงานจำนวนมากถูกจับและถูกผลักดันออกนอกประเทศ การเปิดประตูเออีซีจึงอาจเป็นทางหนึ่ง ที่ช่วยลดเงื่อนไขในการเข้ามาประกอบอาชีพในมาเลเซีย เพื่อให้เหล่าแรงงานข้ามชาติไม่ต้องทำงานแบบผิดกฎหมาย หรือหลบๆ ซ่อนๆ อีกต่อไป