"ข่าวบันเทิงที่ได้เรตติ้งที่สุด คือเรื่องฉาวๆ ข่าวชาวบ้าน ข่าวที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นคนตาย แย่งสามีภรรยากัน ถ้าเรามองดีๆ ข่าวพวกนี้ประดยชน์ค่อนข้างน้อย แต่ได้คุณค่าข่าวในแง่ความน่าสนใจมาก" ผศ.วรัชญ์ ครุจิต รองประธานสภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย
ไม่มีเรื่องราวความรักของคนบันเทิงคู่ใดจะชิงความสนใจและพื้นที่ข่าวไปได้มากกว่า การประกาศแยกทางของแตงโม-โตโน่ เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ต้นสังกัดเลือกจังหวะที่สังคมให้ความสนใจข่าวนี้ช่วงชิงเรตติ้ง ตั้งโต๊ะแถลงเปิดใจโตโน่ศิลปินในสังกัด ผลที่ได้นอกจากจะกลายเป็นประเด็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ยังส่งให้เรตติ้งช่องสูงสุดนับแต่ก้าวสู่เกมแข่งขันทีวีดิจิทัล
ขณะที่การล้มป่วยอย่างกะทันหันของพระเอกดัง "ปอ ทฤษฎี สหวงษ์" เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2558 สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนไม่น้อยกับพิษภัยไข้เลือดออก โถงทางเดินหน้าห้องซีซียู โรงพยาบาลรามาธิบดี เต็มไปด้วยทัพนักข่าวบันเทิง ต่างแข่งขันกันทำหน้าที่ แต่กลับสร้างความวุ่นวาย และกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและครอบครัว และครั้งนี้นักข่าวบันเทิงถูกวิจารณ์อย่างหนักถึงการทำหน้าที่ซึ่งล้ำเส้น และถูกตั้งคำถามถึงพฤติกรรมไม่เหมาะสม
"การใช้ภาษาหรือนำเสนอของนักข่าวในปีที่ผ่านมาถูกจับตามองเป็นพิเศษในเรื่องที่ไปรุกล้ำสิทธิของคนอื่น กลายเป็นว่าคนดูข่าวแล้วไม่ใช่ความสบายใจแล้ว ดูแล้วเครียด ดูแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ เป็นการเสียมารยาท" ผศ.วรัชญ์ กล่าว
ที่ผ่านมาผลงานดาราครอบครองพื้นที่สำคัญหรือได้รับความสนใจน้อยไปกว่าเรื่องราวส่วนตัวโดยเฉพาะชีวิตรัก ส่วนหนึ่งยังเกิดจากการสร้างข่าวด้วยการตั้งคำถามหวังให้โต้ตอบกันเพื่อเป็นประเด็นข่าว พฤติกรรมส่วนหนึ่งที่ทำกันมานานปีส่งผลต่อภาพลักษณ์นักข่าวบันเทิง เสียงวิพากษ์ต่อสื่อมวลชนสายนี้มีมากขึ้นเมื่อมีการตั้งฉายาคนบันเทิงประจำปีโดยใช้ถ้อยคำและภาษาไม่เหมาะสม
"การตั้งฉายา ผมว่าไม่ใช่เรื่องบันเทิงแล้ว การด่าคนไม่ใช่เรื่องบันเทิง แต่ข้ามเส้นไปเป็นเฮทสปีช เป็นการเหยียดหยามสิทธิส่วนบุคคล อันนี้ไม่ใช่ข่าวบันเทิง " ผศ.วรัชญ์ ครุจิต
"ถ้าเราสร้างสรรค์ใหม่ ให้ดาราตระหนักว่าคุณเป็นบุคคลสาธารณะ สิ่งที่คุณทำจะสะท้อน คำว่าแรงอาจทำได้ แต่คำว่าแรงนั้นแค่ไหน ทำให้ดารามีความรู้สึกว่าเขาเป็นตัวอย่างของหนุ่มสาว วัยรุ่น เด็ก ยิ่งต้องวางตัวอย่างระมัดระวัง สื่อก็สะท้อนให้ ถามว่าเป็นอย่างนั้นหรือไม่" บรรยงค์ สุวรรณผ่อง ประธานกรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
ในยุคทีวีดิจิทัลที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ข่าวบันเทิงถูกผลักดันให้ครองพื้นที่หลักเพื่อฉุดดึงเรตติ้ง ด้วยเชื่อว่าเรียกความสนใจ เข้าถึงง่าย และไม่ได้รับผลกระทบอะไรนักในยุคที่มีการควบคุมเนื้อหาสื่อ สัดส่วนรายการข่าวบันเทิงในหลายช่องจึงเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ขณะที่บันเทิงแขนงอื่นก็ปรับเนื้อหารวมถึงวิธีการนำเสนอให้ดูเร้าใจและเป็นที่พูดถึงมากกว่าเก่า เป็นสัญญาณว่าวงการสื่อบันเทิงปีหน้าจะยิ่งแข่งขันกันร้อนแรงมากขึ้น พร้อมกับคำถามว่าใครจะเป็นผู้ส่งสัญญาณเตือนเมื่อมีการนำเสนอภาพข่าวและเนื้อหาไม่เหมาะสม
"ผู้คุมกฎของสื่อตอนนี้ไม่ใช่ผู้มีอำนาจทางการเมือง แต่ผมว่าผู้คุมกฎจริงๆตอนนี้คือประชาชน เพราะประชาชนรับข่าวบันเทิงได้โดยตรง แล้วผมสังเกตว่ากระแสไม่ค่อยดี ถ้าหากกระแสไม่ดีมาๆ แปลว่าสื่อทำตัวเองหรือเปล่า ไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณพื้นฐานจนกระทั่งความศรัทธาหรือกระแสเสื่อมลงเรื่อยๆ ต้องมีคนเข้ามาจัดการแทน" ผศ.วรัชญ์ ครุจิต กล่าว
ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการคัดเลือกเนื้อหาข่าวบันเทิงไม่ใช่สื่อมวลชนอีกต่อไปแล้ว แต่คือประชาชนผู้รับข่าวสารที่จะมีหน้าที่สำคัญในการท้วงติง กำหนดทิศทางเสนอแนะสื่อว่าอยากจะเห็นข่าวบันเทิงในรูปแบบใด สาระบันเทิงที่จรรโลงใจหรือข่าวกระแสที่มาเร็วไปไวอย่างที่ผ่านมา