“ผู้หญิง” “สตรีนิยม” กับ “การเมืองไทย” ตอน “ทำไมนักสตรีนิยมไทยไม่พร้อมใจกันไปแสดงความยินดีกับนายกฯ หญิงคนแรก”
การที่กลุ่มผู้หญิง นักสตรีนิยม มีความเห็นที่แตกต่างหลากหลายและการมีพื้นที่ให้ความแตกต่างหลากหลายซึ่งแน่นอนย่อมมีความขัดแย้งด้วยได้มีโอกาสแสดงออกมาอย่างเปิดเผยในลักษณะของการโต้กันไปมา จะได้รู้ว่า แต่ละฝ่ายใช้ชุดของเหตุผล ชุดความรู้หรือชุดคำอธิบายอะไร ใครจะเลือกเชื่อชุดไหนเป็นเรื่องที่นักวิชาการโดยเฉพาะด้านสตรีศึกษาต้องติดตามและวิเคราะห์วิพากษ์ออกมา.....
ตรงนี้คือประโยชน์ของ “สตรีศึกษา” ผู้ที่จะเข้าใจข้อความนี้ได้ต้องตระหนักว่า สตรีศึกษาและนักสตรีนิยมมองการเมืองต่างจากนักรัฐศาสตร์และนักสังคมวิทยา พูดอีกอย่างหนึ่งคือ มีเพียงทัศนะแบบนักรัฐศาสตร์ นักสังคมวิทยาและนักข่าวเท่านั้นไม่พอต่อการทำความเข้าใจ “การเมืองในทัศนะนักสตรีนิยม” ได้ ยกตัวอย่างเช่น สามประเด็นร้อน ๆ ในขณะนี้คือ
หนึ่ง นักสตรีนิยมควรไปแสดงความยินดีกับนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเมืองไทย เมื่อตอนที่เธอเข้ามารับตำแหน่งหรือไม่? ทั้งนี้ฝ่ายที่เสนอว่า ควรไป “ต้องไป” เห็นว่า ถ้าไม่ไปก็เท่ากับว่า นักสตรีนิยมไทยไม่ใช่นักสตรีนิยมตัวจริงและที่หนักหนาไปกว่านั้น อาจมีนัยว่าไม่ใช่นักประชาธิปไตยด้วยซ้ำไปเพราะเธอได้เป็นนายกฯ จากการ “เลือกตั้ง” นะ!
ผมมีความเห็นดังนี้
(1) นักสตรีนิยมมีหลายสายหลายสำนักคิดที่แตกต่างและขัดแย้งกับ นักสตรีนิยมในสายวิชาการจึงไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และไม่มีความเห็นที่สอดคล้องเป็นแนวเดียวกัน ดังนั้นการเรียกร้อง/คาดหวังให้นักสตรีนิยมทุกคนออกมาแสดงความยินดีกับคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงเป็นการเรียกร้องที่ไม่มองฐานความเป็นจริงของทั้งระบบการเมืองประชาธิปไตย และ “สตรีนิยม” ที่มีความแตกต่างหลากหลายและขัดแย้ง การออกมาตำหนิฝ่ายที่ไม่ไปจึงไม่มีอะไรมากไปกว่าการยืนยันว่า ระบบการเมืองไทยนั้นแตกต่างหลากหลาย ขัดแย้ง ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน และเคลื่อนไหว..... ไม่ใช่อะไรที่ง่าย ๆ ตรงไปตรงมาอย่างที่มีคนพยายามจะทำให้เห็นกันอย่างนั้น ตรงนี้ผู้อ่านและผู้ที่โต้แย้งกันจะต้องเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่า นักสตรีนิยมมีหลายสำนักคิดหรือหลายทฤษฎี เช่น
สตรีนิยมแนวเสรีนิยม (Liberal feminism) ใช้ทฤษฎีการเมืองตะวันตกของคริสต์ศตวรรษที่สิบแปดที่เป็นทฤษฎีว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคโดยเน้นที่เพศ (sex) แต่ต่อมาเมื่อเคลื่อนมาสู่คริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบก็เน้นที่เพศภาวะ (gender)
สตรีนิยมสังคมนิยม (Socialist feminism) แนวทางนี้วางอยู่บนทฤษฎีสังคมแบบสังคมนิยม (socialism) ของคริสต์ศตวรรษที่สิบเก้า แต่พวกเธอก็ต่างไปจาก “นักสังคมนิยม” ทั่วไป (เช่น พวก “ซ้ายเก่า” ในเมืองไทย) พวกเธอเชื่อว่าทุนนิยมไม่เป็นแต่เพียงทุนนิยมแต่เป็นทุนนิยมปิตาธิปไตย (patriarchal capitalism) ที่ผู้หญิงเป็นพลเมืองชั้นสอง ทุนนิยมปิตาธิปไตยมิเพียงสามารถอยู่ได้นอกจากจะด้วยการขูดรีดชนชั้นผู้ใช้แรงงานเท่านั้น แต่อยู่ได้และเติบโตโดยการขูดรีดผู้หญิงเป็นพิเศษ พวกเธอเสนอว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงไม่เพียงแต่เรื่องการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตเท่านั้น แต่จะต้องเปลี่ยนแปลงประสบการณ์ทางสังคมทุกอย่างด้วย ทั้งนี้เพราะรากเหง้าของการกดขี่ผู้หญิงฝังอยู่ในระบบเศรษฐกิจทั้งหมดของทุนนิยม (Reed, 1970, อ้างใน Humm, 1995: 270)
สตรีนิยมแนวทางมาร์กซิสต์ (Marxist feminism) แม้ใช้ทฤษฎีหรือลัทธิมาร์กซ์เป็นพื้นฐาน แต่ก็ต่างจากลัทธิมาร์กซ์อย่างเห็นได้ชัด กล่าวอย่างรวบรัดคือนอกจากจะให้ความสำคัญกับ
“ชนชั้น” แล้ว นักสตรีนิยมแนวทางนี้ต้องมุ่งเน้นไปที่เพศภาวะ (gender) ไม่ใช่เพศ (sex) อย่างที่บางคนเข้าใจ และที่ขาดไม่ได้จะต้องพุ่งประเด็นไปที่เพศภาวะ (gender) กับเพศวิถี (sexuality) มากกว่าการเน้นที่เงื่อนไขต่าง ๆ ทางวัตถุ (เช่น การผลิต/เศรษฐกิจ) ในการประกอบสร้างอุดมการณ์ เป็นต้น
สตรีนิยมแนวถึงรากเหง้า (Radical feminism) แนวทางนี้โต้แย้งว่า “การกดขี่ผู้หญิง” มาจากการที่ “ผู้หญิง” ถูกจัดประเภท (categorization) ในฐานะที่เป็นเสมือน “ชนชั้น” ที่ต่ำต้อยด้อยกว่า “ผู้ชาย” บนฐานของเพศภาวะ (gender) ไม่ใช่เพศ (sex) อย่างที่คนทั่ว ๆ ไปเข้าใจกัน ดังนั้นเป้าหมายการต่อสู้ของนักสตรีนิยมแนวนี้คือ ทำลายระบบเพศ/เพศภาวะ-ในฐานะที่เป็นเสมือน “ชนชั้น” พูดอีกอย่างหนึ่งคือ พวกเธอใช้มโนทัศน์ “ชนชั้น” ในแบบมาร์กซิสต์ ซึ่งวางอยู่บนฐานความแตกต่างของเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ เช่น การเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตกับการไม่ได้เป็นเจ้าของก็จริง
แต่พวกเธอใช้ “ชนชั้น” ในความหมายแบบอุปมาอุปมัยเพื่อแสดงให้เห็นการกดขี่บนฐานเพศ/เพศภาวะและเพศวิถี สิ่งที่ทำให้นักสตรีนิยมแนวทางนี้มีลักษณะ “ถึงรากเหง้า” หรือ “ถึงรากถึงโคน” ของปัญหาคือการมุ่งเน้นไปที่รากเหง้าต่าง ๆ (roots) ของการครอบงำโดยผู้ชาย (male domination) และเสนอว่า การครอบงำทุกรูปแบบเป็นการขยายออกมาจากการประกอบสร้างทางสังคมที่ให้ความสำคัญกับภาวะความสูงสุดของผู้ชาย (male supremacy) ดังนั้นพวกเธอจึงเสนอว่า ปิตาธิปไตย (patriarchy) เป็นลักษณะของการกำหนดนิยามในสังคมที่จัดให้ผู้หญิงตกอยู่ในชนชั้นที่ถูกครอบงำ กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือการกดขี่กีดกันผู้หญิงไม่ได้มีสาเหตุหรือเป็นไปตามกฎธรรมชาติ
สตรีนิยมแนวจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic feminism) แนวทางนี้ก็เป็นแนวทางสำคัญแนวหนึ่งเนื่องจากฉีกแนวไปที่การวิเคราะห์ “จิต” (psyche) ซึ่งเป็นอะไรที่สังคมศาสตร์กระแสหลัก เช่น รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และแม้กระทั่งสังคมวิทยาไม่ให้ความสำคัญ นักสตรีนิยมแนวทางนี้ จึงมักจะ “พูดคนละภาษา” กับนักวิชาการกระแสหลักเหล่านั้น อย่าว่าอย่างโน้นอย่างนี้เลย พวกเธอก็มักจะ “พูดกันคนละภาษา” กับนักสตรีนิยมแนวทางอื่น ๆ ด้วย ยิ่งไปกว่านั้นในหมู่พวกเธอเองก็ยังมีความคิดและทฤษฎีที่ต่างและขัดแย้งกันเอง เช่น แนวทางหนึ่งเดินทางฟรอยด์ (Freud) อีกแนวหนึ่งขัดแย้งกับฟรอยด์อย่างรุนแรง ส่วนอีกแนวทางหนึ่งเดินทางแนวทาง จ๊าก ลากอง (Jacques Lacan) นักจิตวิทยาชาวฝรั่งเศสที่นำเอาทฤษฎีของฟรอยด์มาทำใหม่อีกที เอาย่อ ๆ แค่นี้ก็มึนแล้ว ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้หญิงก็ดี คนทำงานเพื่อผู้หญิง นักสตรีนิยมและนักวิชาการผู้มีเพศเป็นหญิงในเมืองไทยจะออกมาเรียกร้องให้นักสตรีนิยมออกมาแสดงความยินดีกับนายกฯ หญิงคนแรกของไทยอย่างพร้อมเพรียงกัน.....
นี่ยังไม่ได้พูดถึงนักสตรีนิยมที่มีแนวคิดแตกต่างออกไป เช่น นักสตรีนิยมแนวอัตถิภาวนิยม (Existential feminism) นักสตรีนิยมแนววัฒนธรรม (Cultural feminism)
นักสตรีนิยมแนวหลังทันสมัย (Postmodern feminism) นักสตรีนิยมแนวนิเวศวิทยา (Eco feminism) และอื่น ๆ ข้อเรียกร้องดังกล่าวจึงดูออกจะตื้น ๆ ไปหน่อย แม้จะมองในแง่ดีว่ามีเจตนาบริสุทธิ์ก็ตามที
(2) นักสตรีนิยม “นิยาม” และ “ปฏิบัติการ” เกี่ยวกับ “การเมือง” หลากหลาย แตกต่าง ซับซ้อนขัดแย้งกันไม่มีความเป็นเอกภาพ จากความแตกต่างหลากหลาย ฯลฯ ที่กล่าวถึงในข้อ (1) ทำให้ข้อเขียนนี้เรียกร้องว่า “ขบวนการผู้หญิง” และ “นักสตรีนิยม” แนวต่าง ๆ สมควรทบทวนดูว่าตนหรือกลุ่มของตน กำหนดนิยามและปฏิบัติการทางการเมืองว่าอย่างไร ดูซิว่าเป็นการนิยามและปฏิบัติการตามแนวรัฐศาสตร์ สังคมวิทยา หรือแนวที่เข้าใจกันเอง โดยไม่คิดที่จะ ค้นคว้าดูว่า นักสตรีนิยมมีทัศนะต่อการเมืองและปฏิบัติการทางการเมืองเรื่องอะไร และอย่างไร เอาเข้าจริง ๆ แล้วเรื่องนี้ถือว่ายาก จึงเป็นหน้าที่ของนักวิชาการสายสตรีศึกษาจะต้องออกมาอธิบาย ซึ่งคงทำได้ดีกว่าที่ผมพยายามทำอยู่แน่ ๆ ฉะนั้นใครก็ตามที่เสนอว่า “ควรจะยุบโครงการสตรีศึกษาในทุกมหาวิทยาลัยให้หมด” จึงเป็นคำพูดที่ฟังดูทะแม่ง ๆ ชอบกล
ต่อไปนี้เป็นเพียงข้อสังเกตบางประเด็นเกี่ยวกับสาระสำคัญของการเมืองในทัศนะสตรีนิยม
(2.1) โดยทั่วไปแล้วนักสตรีนิยมอาศัยนิยาม “การเมือง” (politics) สั้น ๆ ตามนิยามที่นักวิชาการทั่วไปใช้อยู่ เช่น “การเมืองคือ ศิลป์และศาสตร์ของการปกครอง” บ้างและ “การเมืองเป็นสาขาของปรัชญาจริยธรรมที่ว่าด้วยรัฐ หรือสังคมที่เป็นองค์รวม” นัยของนิยามแนวนี้มีสองนัยสำคัญคือการเมืองเป็นเรื่องของศิลป์และศาสตร์ของการเมืองการปกครอง และเป็นปรัชญาว่าด้วยจริยธรรม-ศีลธรรมของรัฐและของสังคมด้วย ดังนั้นการเมืองจึงไม่ใช่เรื่องของการได้มา รักษาไว้และใช้ไปซึ่งอำนาจในการปกครอง (government) หรือการได้มา รักษาและใช้ไปซึ่งอำนาจรัฐเท่านั้น หัวใจสำคัญที่ขาดไม่ได้ของการเมืองคือ จะต้องเกี่ยวข้องกับศีลธรรม, จริยธรรมด้วย ดังนั้นการได้มาซึ่งอำนาจรัฐก็ดี ได้เป็นรัฐบาลก็ดี เป็นนายกรัฐมนตรีก็ดีจะใช้เกณฑ์ของการ “ชนะเลือกตั้ง” มาอ้างอย่างเดียวแล้วกะเกณฑ์ให้ทุกคน ทุกกลุ่ม ต้องยอมรับโดยไม่ตั้งคำถามในมิติอื่น ๆ เช่น จริยธรรม, ศีลธรรมคงไม่ได้ เช่น ชนะเลือกตั้งมาด้วยวิธีการอย่างไร เพราะอะไร จึงได้เป็นนายกฯ เป็นต้น
(2.2) นอกจากนั้น “การเมือง” และ “อะไรที่เป็นการเมือง” ยังเชื่อมโยงกับ “ชีวิตสาธารณะ” (public life) “รัฐ” (the state) และ “พรรคการเมือง” ที่เป็นพหูพจน์ด้วย นักสตรีนิยมบางคนเสนอว่า พื้นฐานร่วมของสิ่งที่เรียกว่าการเมืองในหลาย ๆ สังคม หลาย ๆ วัฒนธรรมและหลายประวัติศาสตร์คือ ลักษณะที่เป็นสังคม (social nature) ของการเมืองกับความสัมพันธ์ของการเมืองกับทรัพยากรที่ขาดแคลนและความขัดแย้งในเรื่องการกระจายทรัพยากรที่ขาดแคลนนั้น ๆ (Randall 1982, อ้างใน Andermahr, et.al., 1997:64)
(2.3) ในประเด็นว่าการเมืองเป็นเรื่องของ “ชีวิตสาธารณะ” ดูเผิน ๆ อาจคิดว่า การเมืองในทัศนะสตรีนิยมก็เหมือน ๆ กับรัฐศาสตร์และสังคมวิทยา แต่ดูดี ๆ แล้วจะเห็นว่า สตรีนิยมมีความห่วงใยหรือเกี่ยวข้องกับการเปิดโปงกิจกรรมทางการเมืองว่าเป็นสิ่งที่ถูกทำให้มีเพศภาวะ (gendered) ควบคู่ไปกับการบรรลุถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเต็มที่ของผู้หญิง (Hollis, ed.,: 1979, อ้างใน Andermahr, et. al., 1997:64) อนึ่งข้อความที่ว่ากิจกรรมทางการเมืองเป็นสิ่งที่ถูกทำหรือถูกประกอบสร้างให้มีเพศภาวะนั้นเห็นได้จาก “คำพูด”/ “วาทกรรม” ต่าง ๆ เช่น “การเมืองไม่ใช่เรื่องของผู้หญิง” หรือ “มีนายกฯ เป็นผู้หญิงบ้านเมืองจะวิบัติฉิบหาย”
เช่นเดียวกับ “นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ถูกหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นผู้หญิง ฉะนั้นนักสตรีนิยมจะต้องออกมาต่อสู้” ส่วนข้อความว่า การบรรลุถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเต็มที่ของผู้หญิง สะท้อนให้เห็นว่าจากประสบการณ์ของนักสตรีนิยมตะวันตกที่เชื่อกันว่า ระบบการเมืองในประเทศตะวันตกพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยมากกว่าการเมืองไทยแล้วนั้น ปัญหาการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงยังดำรงอยู่ พูดอีกอย่างหนึ่งคือ การเลือกปฏิบัติก็ดี การกีดกันผู้หญิงก็ดี ยังมีอยู่ การต่อสู้ของนักสตรีนิยมจึงเป็นกระบวนการที่ไม่น่าจะจบสิ้นเมื่อได้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง
(2.4) ในประเด็นว่าการเมืองคือเรื่องของความสัมพันธ์ (เชิงอำนาจ) ทางสังคม
อาจขยายความพอเป็นแนวทางย่อ ๆ ว่า การเมืองเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่อาจอธิบายได้โดยมิติมุมมองแบบรัฐศาสตร์ กล่าวคือ การเมืองในความหมายนี้ของนักสตรีนิยมจัดวางให้กิจกรรมทางการเมืองของผู้หญิงมีที่ทางมากขึ้นใน “ปริมณฑลสาธารณะ” และในกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐ ดังนั้นการเข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมืองของนักสตรีนิยมจึงมุ่งไปที่การ “ทำแผนที่” (mapping) หรือการบ่งชี้ให้เห็นถึงการกระจายทรัพยากรที่หายากขาดแคลนอย่างมีความแตกต่าง หรืออย่างไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่มุ่งไปแต่เฉพาะในเรื่องความแตกต่างทางชนชั้น ภูมิหลังทางชาติพันธุ์เท่านั้น แต่ชี้ประเด็นความไม่เป็นธรรมในเรื่องการควบคุมและการแบ่งสันปันส่วนทรัพยากรต่าง ๆ บนฐานของเพศ/เพศภาวะด้วย
ตัวอย่างเช่นการต่อสู้ให้มีการกระจายที่ดินทำกิน แหล่งน้ำ แหล่งประมง ฯลฯ ให้กับผู้หญิงด้วยแทนที่จะมุ่งให้ความสำคัญกับผู้ชายเท่านั้น ตรงนี้จึงต้องเป็นประเด็นที่เปิดไปสู่เรื่องนโยบายของพรรคการเมืองนั้น ๆ ด้วยว่ามีมิติเพศภาวะอยู่หรือไม่ ดังนั้นการมีนายกฯ เป็นเพศหญิงจึงไม่เป็นเหตุให้เกิดการเหมารวมว่าบทบาทและสถานภาพของผู้หญิงจะดีขึ้นจนถึงขั้นต้องชักชวนกันไปแสดงความยินดี อนึ่งการมีนโยบายเกี่ยวกับสตรีในรูปธรรมของ “กองทุนพัฒนาสตรี” ดูเหมือนจะดีแต่ต้องดูเนื้อหา วิธีการ และปฏิบัติการโดยเฉพาะปรัชญา หรือหลักการ หลักคิด/วิธีคิดที่อยู่เบื้องหลังด้วยตรงนี้สำคัญ เพราะมันจะตอบโจทย์ว่ารัฐบาล/นายกฯ หญิง มีวิธีคิดเกี่ยวกับผู้หญิงทั้งในฐานะเพศและเพศภาวะอย่างไร ตัวอย่างที่นักสตรีนิยมตะวันตกยกเป็นอุทาหรณ์คือ ในช่วงที่มากาเร็ท แธทเชอร็เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษนั้น เธอมีชื่อเสียงโด่งดังมากกล่าวกันว่า “เธอเป็นผู้ชายเพียงคนเดียวใน ค.ร.ม.ของเธอ!” ฟังแล้วแปลว่าอะไร? ตรงนี้สำคัญเพราะมันจะนำไปสู่การถกเถียงของนักสตรีนิยมเรื่อง การเมืองแบบผู้หญิงที่พวกเธอต้องการสถาปนาขึ้นมานั้นเป็นอย่างไร
นักสตรีนิยมแนวถึงรากเหง้า ใช้มโนทัศน์ “การเมือง” ในความหมายของความสัมพันธ์ทางสังคม (ถอยห่างจากรัฐศาสตร์มาใกล้กับสังคมวิทยามากกว่า) พวกเธอก่อตั้งโครงการ (ขยายกรอบคิดและปฏิบัติการ) บนฐานมโนทัศน์ว่าการเมืองต้องขยายออกไปเกินกว่าพื้นที่ของชีวิตของสาธารณะ เช่นที่ปรากฏในนโยบายสาธารณะต่าง ๆ แล้ว (นโยบายป้องกันน้ำท่วม สุขภาพอนามัย การศึกษา การคมนาคม และอื่น ๆ) ยังต้องเกินเลยไปกว่าการกระจายทางเศรษฐกิจ (กองทุนหมู่บ้าน, กองทุนพัฒนาสตรี) เพื่อที่จะเปิดเผยให้เห็นถึง การเมืองที่มีเพศภาวะของชีวิตส่วนตัว
ดังนั้น นักสตรีนิยมส่วนใหญ่จึงน่าจะคุ้นกับคำขวัญของพวกเธอที่ว่า “the personal is political” หรือ “เรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องการเมือง” นี้ถือว่าเป็นเสียงเรียกให้มีการรณรงค์อย่างแข็งขันที่สุดของนักสตรีนิยมคลื่นลูกที่สองในตะวันตกก็ได้ โครงการนี้ได้เข้ามาสู่วิธีคิดและกิจกรรมของนักสตรีนิยมไทยด้วย ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องการรณรงค์ต่อต้านการใช้ความรุนแรงในครอบครัวก็ดี การข่มขืนภรรยาก็ดี การลวนลามและละเมิดทางเพศโดยผู้บังคับบัญชาก็ดี สิทธิในการทำแท้งในกรณีที่ผู้หญิงถูกข่มขืน หรือไม่พร้อมก็ดี สิทธิในการรักเพศเดียวกันโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากรัฐและสังคม
เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นประเด็นทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถถูกปกปิดโดยอ้างว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เคท มิลเล็ทท์ (Kate Millett) สร้างคำว่า การเมืองเรื่องเพศ ซึ่งนิยามการเมืองว่าเป็น “ความสัมพันธ์ต่าง ๆ ที่มีการจัดโครงสร้างอำนาจ และการจัดการต่าง ๆ ที่คนกลุ่มหนึ่งถูกควบคุมโดยคนอื่น” (Millet 1971: 23, อ้างใน Andermahr, et. al., เพิ่งอ้าง: 146) ขยายความได้ว่า การควบคุมนั้นใช้เรื่องทางเพศ/เพศวิถีเป็นเครื่องมือในการควบคุม ซึ่งเกิดขึ้นในสังคมปิตาธิปไตย เพราะฉะนั้น นักสตรีนิยมแนวทางนี้เมื่อพูดถึงการเมืองจะไม่หยุดอยู่ แต่การถกเถียงเรื่องประชาธิปไตยเท่านั้น แต่จะตั้งคำถามว่าประชาธิปไตยที่ว่านั้นเป็นปิตาธิปไตยใช่หรือไม่?
โดยนัยนี้นักสตรีนิยมที่อยู่ในแนวนี้นอกจากจะไม่ไปแสดงความยินดีกับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ในตอนรับตำแหน่งในฐานะผู้หญิงคนแรกเท่านั้น ยังอาจมีคำถามอื่น ๆ ที่แรง ๆ และยากจะตอบตามมาอีกหลายคำถามอีกด้วย เนื่องจากมันจะไป “ถอดรื้อ” จริยธรรม/ศีลธรรมกระแสหลักที่พวกเธอเห็นว่าเป็นกระแสชายเป็นใหญ่ อนึ่งแนวคิด “the personal is political” เป็นแนวที่นักสตรีนิยมสังคมนิยมใช้ด้วยเช่นกัน
โดยสรุปนักสตรีนิยมมีวิธีคิดว่าอะไรคือการเมือง อะไรคือปฏิบัติการทางการเมือง และปฏิบัติไปเพื่อเป้าหมายอะไรต่างจากนักวิชาการสาขาอื่น ๆ น้อยบ้างมากบ้าง นักสตรีนิยมแนวเสรีนิยมแม้ว่าจะดูใกล้ ๆ กับนักประชาธิปไตยเสรีนิยมทั่วไป แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้วพวกเธอก็ต่าง กล่าวอย่างสั้น ๆ คือ พวกเธอมีจุดยืนทางการเมืองแบบต่อต้านการเลือกปฏิบัติและต่อต้านกฎหมายต่าง ๆ ที่สร้างให้เกิดความแตกต่างทางสิทธิระหว่างหญิงชาย ดูเหมือนว่าพวกเธอยอมรับว่ากระบวนการทางการเมืองที่ได้รับการสถาปนาและยอมรับแล้วหลาย ๆ กระบวนการ เช่น สิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งถ้วนหน้า การมีสิทธิ์ลงคะแนนและสมัครรับเลือกตั้งอย่างเป็นอิสระ และเสรีภาพในการชุมนุมแสดงออกซึ่งความคิดเห็น อาจเพียงพอต่อการขจัดการเลือกปฏิบัติ แต่พวกเธอก็ไม่ค่อยไว้ใจรัฐและกลไกของรัฐ ไม่ไว้ใจว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปอย่างเสรี รวมทั้งไม่ค่อยไว้ใจพรรคการเมืองและนักการเมืองอย่างสนิทใจด้วย
ส่วนนักสตรีนิยมแนวอื่น ๆ ดูเหมือนจะนิยามการเมืองและปฏิบัติการทางการเมืองที่ต่างออกไปจากการเมืองแบบมีตัวแทน (มีพรรคการเมือง มีการเลือกตั้งผู้แทน ฯลฯ) พวกเธอดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมโดยตรงมากกว่า ส่วนนักสตรีนิยมแนวเสรีนิยมเห็นว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองทำได้ แต่พวกเธอขยาดกับการเลือกปฏิบัติซึ่งมาจากอุดมการณ์ปิตาธิปไตย (ชายเป็นใหญ่)
ดังนั้นพวกเธอจึงเรียกร้องเรื่อง “โควตา” บนฐานของเพศ/เพศภาวะ ในฐานะที่เป็นมาตรการพิเศษชั่วคราว เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นักสตรีนิยมเสรีนิยมบางคน บางกลุ่มยังมองทะลุไปถึงว่า การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง เอาเข้าจริง ๆ แล้ว เป็นการเมืองของ “ชนชั้นนำ” และในหมู่ชนชั้นนำนั้นมักจะเป็นผู้ชายและมีวิธีคิดแบบผู้ชายเป็นใหญ่ เนื่องจากสังคมทุกสังคมรวมทั้งสังคมไทยด้วย กลุ่มผู้นำในสังคม (elites) มักมาจากฐานอำนาจทางชาติตระกูลบ้าง ฐานะทางเศรษฐกิจบ้าง คนเหล่านี้ในการเมืองไทยปัจจุบันหมายถึง “เจ้า” “อำมาตย์” “นายทุน” ทั้งทุนเก่า-ทุนใหม่ เดิมทีนักวิเคราะห์ฝ่ายซ้ายในเมืองไทยเรียกว่าเป็น “ศักดินา-นายทุน-ขุนศึก” กลุ่มผู้นำเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย
สุดท้ายแล้วการที่คุณยิ่งลักษณ์ ได้รับเลือกตั้งก็อาจเป็นเพราะเธอเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้นำดังกล่าว หนักไปยิ่งกว่านั้นผมติดตามการวิเคราะห์การเมืองไทยมาตลอดพบว่า มีไม่น้อยที่บอกว่า เธอเป็นนายกฯ หุ่นให้กับพี่ชายของเธอ .....จริงเท็จประการใดก็แล้วแต่..... แต่ก็อาจอธิบายได้ว่าเพราะเหตุใดนักสตรีนิยมส่วนใหญ่ไม่ไปแสดงความยินดีหรือสนับสนุน ปกป้องเธออย่างสุดจิตสุดใจ
ส่วนพวกที่สนับสนุนก็อาจมีวาระซ่อนเร้นคือต้องสนับสนุนเธอเพราะเธอมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่มาจากการปฏิวัติ-รัฐประหาร เพียงเท่านี้ก็มีน้ำหนักพอแล้ว
แล้วคุณล่ะคิดว่าพอไหม?
ผมคิดว่าสิ่งที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ควรจะรีบทำคือ หนึ่งพิสูจน์ต่อสาธารณะชนให้ได้ว่าเธอเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริง เป็นหัวหน้าพรรคฯ ตัวจริง และสองเธอต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงที่มีความคิด พฤติกรรมและนโยบายตลอดจนปฏิบัติการที่มีลักษณะสตรีนิยม