วงเสวนาเสนอข้อเรียกร้องลดความเหลื่อมล้ำด้านแรงงาน

สังคม
11 มี.ค. 55
13:55
19
Logo Thai PBS
วงเสวนาเสนอข้อเรียกร้องลดความเหลื่อมล้ำด้านแรงงาน

คณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นการปฏิรูประบบแรงงานและสวัสดิการความมั่นคงของชีวิตแรงงานเสนอข้อเรียกร้องเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำด้านแรงงานต่อรัฐบาล 4 ข้อ ให้เพิ่มอำนาจการต่อรองของแรงงาน และปรับโครงสร้างค่าจ้างที่เป็นธรรม

ในการเสวนา "ค่าจ้าง และข้อเสนอเพื่อการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำด้านแรงงาน" คณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นการปฏิรูประบบแรงงานและสวัสดิการ ความมั่นคงของชีวิตแรงงาน เสนอข้อเรียกร้องเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำด้านแรงงานต่อรัฐบาลจำนวน 4 ข้อคือ การเพิ่มอำนาจการต่อรองของแรงงาน เช่น การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือไอแอลโอ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และอนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัว และการร่วมเจรจาต่อรองโดยเร็วที่สุด

การเสนอให้ปรับโครงสร้างค่าจ้าง เช่น รัฐบาลและนายจ้างมีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องค่าจ้างที่เป็นธรรมที่สอดคล้องกับประสิทธิภาพ ความเสี่ยง และลักษณะงานของลูกจ้าง รวมถึงการแก้คำนิยามค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นไปตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ สำหรับลูกจ้างที่เริ่มทำงานเป็นครั้งแรกให้มีรายได้พอเพียงเลี้ยงชีพตนเอง และครอบครัวอีก 2 คน

การพัฒนาสมรรถนะความรู้ทักษะ และคุณลักษณะที่พึงปรารถนาเพื่อเพิ่มผลิตภาพ เช่น ขอให้กระทรวงศึกษาธิการบรรจุวิชาด้านแรงงานทุกมิติในหลักสูตรระดับมัธยม และอุดมศึกษา และเร่งรัดจัดตั้งองค์กรรับรองวิทยฐานะฝีมือแรงงานทุกประเภท รวมถึงการสอนภาษาสำหรับแรงงานทั้งภาษาไทย และต่างประเทศเพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน

และสุดท้าย คือการคุ้มครองแรงงาน เช่น ขอให้กระทรวงแรงงานร่วมกับนายจ้างจัดตั้งกองทุนพิทักษ์สิทธิแรงงานที่ได้รับการสมทบจากนายจ้าง และรัฐบาล เพื่อเป็นหลักประกันว่าลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยจากกองทุนเมื่อมีการเลิกจ้าง รวมถึงได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้าง และลูกจ้าง

รศ.วรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้ประเทศไทยออกจากการยุคการใช้แรงงานราคาถูกที่มีมากว่า 30 ปี แต่อยากให้รัฐบาลมองเรื่องสวัสดิการ คุณภาพของคนงาน และความมั่นคงในการทำงานควบคู่ไปด้วย เพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนที่จะมีขึ้นในปี 2558 ซึ่งจะต้องแข่งขันกับประเทศอื่นในด้านแรงงานที่มีฝีมือ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง