สปส.ย้ำเพิ่มสิทธิ์ผู้ประกันตนใช้ได้จริง ครอบคลุมป่วยโรคไต
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) เผยถึงการเพิ่มสิทธิประโยชน์ของสปส.ที่ได้ออกประกาศไปก่อนหน้านี้ว่า มีผลบังคับใช้แล้วทุกรายการ เช่น กรณีการเพิ่มสิทธิผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง มีผลใช้ได้แล้วตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังก่อนมาเป็นผู้ประกันตนก็ได้รับสิทธิเพิ่ม และหากได้รับอนุมัติให้ล้างไตแล้ว การรักษาหรือประโยชน์อื่นๆที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ยากระตุ้นเม็ดเลือดก็จะได้รับตามแบบออโตเมติก โดยไม่ต้องทำเรื่องขออนุมัติอีก ถ้าไม่กล้าไปสมัครงานเพราะกลัวว่าเป็นผู้ประกันตนแล้วจะไม่ได้รับสิทธิ เพราะป่วยมาก่อน ขอยืนยันว่าได้รับความคุ้มครองแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน2554
“ส่วนเรื่องการรักษาโรคมะเร็ง แม้ว่าการรักษาจะสูงเกินกว่าที่ สปส.กำหนดเพดานค่ารักษาไว้ แต่ผู้ประกันตนก็ไม่ต้องจ่ายเงินส่วนเกินเพิ่มแต่อย่างใด ของเดิมเหมาจ่ายทั้งหมด เป็นอะไรก็เหมาจ่าย แต่พอเจอโรคหรือยาแพงๆ โรงพยาบาลก็ไม่ยอมให้ยา เราเลยบอกว่าถ้าเป็นแบบนี้ สปส.จ่ายเพิ่มให้เท่านี้ๆ ตามที่กำหนดไว้ แต่ถ้าค่าใช้จ่ายเกินนี้ ก็เอาไปรวมอยู่ในค่าเหมาจ่ายรายหัว กรณีที่คนไข้ทานยาตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ไม่ได้ เช่น คนไข้แพ้ยา หรือ หมอ คิดว่ารักษาแบบอื่นได้ผลกว่า เราก็ไม่ได้ตัดสิทธิคนไข้ เราก็ยังจ่ายให้ 50,000 บาทอยู่”
นพ.สุรเดช กล่าว รองเลขาธิการสปส. กล่าวต่อว่า กรณียา จ.2 (ยาราคาแพง) สปส.ก็ออกประกาศปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการแล้ว เนื้อหาคือต่อไปนี้แทนที่จะจ่ายเงินให้โรงพยาบาลไปซื้อยาเอง สปส.จะซื้อยาแล้วส่งให้โรงพยาบาล มีผล 1 ม.ค.2555 และที่ผ่านมาสปส. ก็ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับสปสช.และกรมบัญชีกลางในการซื้อยาราคาแพงร่วมกันซึ่งจะทำให้ราคายาลดลง ขณะที่ชุดสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีนั้นตนยืนยันว่าสิทธิประโยชน์แทบจะเหมือนสปสช. 100% แล้ว“เรื่องยาอะทาสนาเวียร์สำหรับต้านไวรัสเอชไอวีก็มีระบบแบบเดียวกัน ปกติสปส.ใช้สูตรยาต้านไวรัส สูตรเดียวกับสปสช. ทีนี้จะมีคนไข้บางคนที่กินยาต้านไวรัสแล้วไขมันในเส้นเลือดเพิ่มขึ้นจนควบคุมไม่ได้ วิธีแรกที่ผู้เชี่ยวชาญเขาจะให้คือให้ยาลดไขมันเพื่อควบคุม แต่ถ้ายังคุมไม่ได้ ต้องใช้ยาอะทาสนาเวียร์ ซึ่งทำให้ไขมันในเลือดไม่สูง แต่ราคาแพงจะให้ทุกคนมากินอย่างนี้ไม่ได้ ก็ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญดูจนถึงที่สุดแล้วว่าจำเป็นต้องใช้ยาตัวนี้”รองเลขาธิการสปส. กล่าว
นพ.สุรเดช กล่าวว่า ยาอะทาสนาเวียร์แต่เดิมก็อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์อยู่แล้ว เพียงแต่ สปส.ไม่ได้จัดซื้อ ส่วนโรงพยาบาลก็ไม่อยากจ่ายยาจนเป็นปัญหาให้ผู้ป่วยไม่พอใจ ขณะนี้เปลี่ยนมาใช้วิธีให้สปส.จัดซื้อยาส่งให้โรงพยาบาลแล้ว แต่คนที่ตัดสินใจว่าจะจ่ายยาหรือไม่ก็ยังเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเหมือนเดิม รวมทั้งเรื่องรักษาโรคเรื้อรังไม่เกิน 180 วัน สปส.ก็ออกประกาศใช้ไปแล้ว โดยเปลี่ยนเป็นรักษาต่อเนื่องถ้ามีเหตุผลทางการแพทย์ มีความหมายเท่ากับรักษาได้ไม่จำกัดระยะเวลา เพราะเมื่อรักษาต่อเนื่องไปจนหมดปีก็เริ่มนับวันใหม่ แต่ที่ไม่เขียนให้ชัดว่ารักษาได้ไม่จำกัดระยะเวลาเพราะในโลกของความเป็นจริงจะมีญาติคนไข้บางส่วนไม่ยอมเอาผู้ป่วยกลับบ้าน ฉะนั้นถ้าให้คนไข้ที่ไม่มีความจำเป็นดูแลโดยแพทย์และพยาบาลยังอยู่ในโรงพยาบาลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย จะเป็นปัญหาให้ญาติก็ทิ้งคนไข้อยู่โรงพยาบาลจนทำให้คนที่ควรได้รับการรักษาเสียโอกาสไป
“เรื่องทันตกรรมสปส.ให้เบิก ไม่เกิน 2 ครั้ง 600 บาทต่อปี ถ้าบอกว่าได้น้อยไปก็เป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน เพราะราคานี้ถ้าผู้ประกันตนเข้าโรงพยาบาลของรัฐ หรือรพ.สต. 300 บาทนี่เหลือเฟือเลย รพ.สต.ให้บริการโดยทันตภิบาล เขาจะคิด 80-100 บาท ถ้าไปโรงพยาบาลชุมชน 150 - 200 บาท เข้าโรงพยาบาลรัฐก็ยังอยู่ราวๆนี้ แต่ถ้าคนไข้อยากสะดวก จะไปเข้าคลีนิคซึ่งราคาย่อมแพงกว่า แปลว่าถ้าอยากได้อะไรที่เร็วกว่าสะดวกกว่าก็อาจต้องร่วมจ่ายบ้าง ที่เราให้สิทธิประโยชน์ตรงนี้ก็เพื่อให้ผู้ประกันตนมีทางเลือก ไม่ใช่บอกว่าบริการฟรีแต่ต้องมา รพ.สต.ต้องมาโรงพยาบาลรัฐแล้วรอคิวยาวเหยียด”นพ.สุรเดช กล่าว