"อนุสรณ์" ยืนยันกรณีปลดปลัด ก.พัฒนาสังคมฯไม่เป็นการกลั่นแกล้ง

การเมือง
14 มี.ค. 55
11:53
8
Logo Thai PBS
"อนุสรณ์" ยืนยันกรณีปลดปลัด ก.พัฒนาสังคมฯไม่เป็นการกลั่นแกล้ง

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันการโยกย้ายตำแหน่งปลัดก.พัฒนาสังคมฯไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งข้าราชการ โดยพร้อมให้ร้องเรียนขอความเป็นธรรมได้ ขณะที่เครือข่ายมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เตรียมร้องเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อขอความเป็นธรรมให้กับอดีตปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมฯ

มติคณะรัฐมนตรีที่โยกย้ายนางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัด ก.พัฒนาฯ ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งให้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยด้วยนั้น นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เรียกร้องให้นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.พัฒนาสังคมฯ ชี้แจงเหตุผลการโยกย้ายให้ชัดเจน ทั้งกรณีการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่ทักท้วงการเบิกจ่ายงบประมาณในการเดินทางไปต่างประเทศ และ กรณีความขัดแย้งการประมูลการก่อสร้างอาคารใหม่ ของก.พัฒนาสังคม ที่มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท โดยหลังการแถลงข่าวของนางพนิตา วันพรุ่งนี้ (15 มี.ค.) หากพบว่ามีเหตุแห่งการโยกย้ายไม่เป็นธรรม ทางเครือข่ายจะยื่นหนังสือเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป

ขณะที่ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันถึงเหตุผลการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย นางพนิตา เนื่องมาจากวิธีการบริหารงาน และการปฏิบัติราชการ ที่มีปัญหาบางประการของนางพนิดา และ หากสอบสวนแล้วไม่มีการกระทำความผิด ก็พร้อมจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยนางพนิตา สามารถร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกียวข้องได้อย่างเต็มที่

ด้านนางจรวยพร ธรณินทร์ โฆษกคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม หรือ ก.พ.ค.เปิดเผยว่าหากนางพนิตา เห็นว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมกรณีการถูกแต่งตั้งโยกย้าย และต้องการร้องต่อ ก.พ.ค. จะต้องรวบรวมข้อมูลและส่งคำร้องภายใน 30 วัน หลังจากรับทราบมติการแต่งตั้งโยกย้าย โดยนางพนิตาจะต้องระบุในคำร้องให้ชัดเจนว่า จะยื่นเรื่องเอาผิดกับผู้ใด และใครคือคู่กรณี

ส่วนการสอบสวน กรณี นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ที่ยื่นหนังสือร้องเรียนว่านายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจในการโยกย้ายตำแหน่งไม่เป็นธรรม ขณะนี้กระบวนการชี้แจงเสร็จสิ้นแล้ว เหลือเพียงการรวบรวมสำนวน และยกร่างคำวินิจฉัยเพื่อส่งต่อคณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาลงมติ โดยคาดว่าจะใช้เวลา 30 วัน ในการลงมติ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง