นักวิชาการ เสนอให้ลูกจ้างมีอำนาจต่อรอง ลดความแตกต่างทางรายได้ในสังคม
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และสำนักงานปฏิรูป (สปร.) จัดเสนาในกิจกรรม ราชดำเนินเสวนา “ปฏิรูปประเทศไทย ประเด็นที่ควรปฏิรูป?” โดยมี นายพงศ์โพยม วาศภูติ ประธานคณะทำงานการปฏิรูประบบการเมือง รศ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานคณะทำงานปฏิรูประบบแรงงานและสวัสดิการ และนายอิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ ประธานคณะทำงานปฏิรูปโครงสร้างและกฎหมายด้านที่ดิน
นายพงศ์โพยม กล่าวว่า ในเรื่องของโครงสร้างอำนาจในประเทศไทยนั้น อำนาจรัฐค่อนข้างมากซึ่งทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างรัฐ เอกชนและภาคประชาชน โดยหากรัฐเป็นผู้ทำให้ในทุกเรื่องนั้นอาจจะมีข้อดีอยู่มาก แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อเสียคือ 1. ประชาชนอ่อนแอจนต้องพึ่งพาผู้อื่น 2.ในแต่ละท้องที่มีความสลับซับซ้อนแตกต่างกันไป โดยถ้ารัฐเข้าไปทุกพื้นที่อาจทำได้ไม่ดี ฉะนั้นอำนาจของรัฐควรต้องถ่ายเทไปยังประชาชนผ่านองค์กรปกครองท้องถิ่น โดยมีกลไกของภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ กำกับดูแล ให้ประชาชนกลายเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง
นายพงศ์โพยม กล่าวว่า คณะทำงานได้มีข้อเสนอ เรื่องของปฏิรูปโครงสร้างอำนาจใน 3 เรื่องคือ 1. การปรับดุลอำนาจ ให้มีการถ่ายเทอำนาจ ไปยังองค์กรปกครองท้องถิ่น 2.อยากให้มีงบประมาณสักก้อนหนึ่งเพื่อแก้ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งปัจจุบันรัฐก็ไม่ได้งบก้อนนี้อยู่แล้ว แต่รัฐบาลตั้งใจเรืองมั่งคั่งร่ำรวยแก้ปัญหา แต่ทั้งนี้ ทางคณะทำงานอยากให้รัฐหันมามองเรื่องความเหลื่อมล้ำในทุกมิติด้วย และ 3.ให้มีองค์กรอิสระในการกระจายอำนาจ แม้จะมีอยู่แล้วแต่การถ่ายเทอำนาจมายังองค์กรปกครองท้องถิ่นนั้นยังมีน้อยมาก ดังนั้นควรต้องให้บทบาทภารกิจเป็นของท้องถิ่นร่วมกับประชาชน
“สำหรับในส่วนของปฏิรูปการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เพราะการมีส่วนร่วมเป็นองค์ประกอบหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ดังนั้นคณะทำงานมีข้อเสนอในเรื่องแรกคือ สนับสนุนการมีส่วนร่วมผ่านองค์กรปกครองท้องถิ่น โดยจะเจรจาให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดตั้งโครงการ ในเรื่องการกำกับดูแล จัดซื้อจัดจ้าง การก่อสร้าง ควบคุมงาน ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนได้ หรืออาจมีการแจ้งล่วงหน้าให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้า และในขณะเดียวกันประชาชนเองต้องช่วยเข้าไปเป็นอาสาสมัครและให้ความร่วมมือด้วย”
นายพงศ์โพยม กล่าวต่อว่า ที่สำคัญอีกส่วนคือ ต้องมีการพัฒนาความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนและเยาวชนในพื้นที่ให้รู้จักประชาธิปไตยและสิทธิอย่างแท้จริง โดยต้องเปลี่ยนให้ประชาชนเป็นพลเมือง มีความรู้ในด้านสิทธิ เสรีภาพ รู้จักปัญหาและมีความสนใจบ้านเมือง มีเหตุผลในการวิเคราะห์วิจัยและมีจิตสำนึกพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย และสุดท้ายคือ ควรต้องมีกฎหมายกลางในการมีส่วนร่วม แม้จะมีอยู่กฎหมายบางตัวแล้วแต่ยังไม่กฎหมายกลางเพื่อบังคับให้รัฐเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันก่อนที่จะลงมือทำ
ในเรื่องของการทุจริตในองค์กรท้องถิ่นนั้น นายพงศ์โพยมกล่าวว่า ปัจจุบันระบบขององค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นระบบราชการ การที่จะไปขอดูเอกสารหรือตรวจสอบเป็นไปได้ยาก ฉะนั้นจึงต้องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อถ่วงดุล ต้องมีทั้งประชาชนและข้าราชการเข้าไปตรวจสอบดูแล ราชการคุมราชการกันเองไม่ได้ ต้องให้ประชาชนคุม และแม้ส่วนหนึ่งในการทำงานขององค์กรท้องถิ่นต้องการความเป็นอิสระ แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลด้วย
เมื่อถามถึงเรื่องปัตตานีนคร นายพงศ์โพยมกล่าวว่า ในส่วนนี้มีที่มีการยื่นข้อเสนอมานั้นมีหลายแบบ เช่นให้ยะลา ปัตตานี และนราธิวาสรวมกัน หรือให้แยกออกจากกัน เป็นต้น แต่ทั้งนี้ ก็เพื่อให้แต่ละจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ในการปกครองท้องถิ่นมากขึ้น โดยผู้ที่เสนอนั้นส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการทางภาคใต้ร่วมกับผู้นำท้องถิ่น และผู้นำศาสนา
“ไม่ใช่เฉพาะทางภาคใต้เท่านั้นที่มีการยื่นของเป็นจังหวัดจัดการตนเอง โดยหลังจากที่มีข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปของท่านอานันท์ ปันยารชุน ออกไปนั้นก็มีจังหวัดทางภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ที่จะมีการเสนอให้เป็นจังหวัดจัดการตนเอง เหล่านี้สะท้อนให้เห็นการตื่นตัวของภาคประชาชน”
ด้านรศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการปฏิรูปคือการต้องหาสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งนั้นก็คือความไม่เป็นธรรมที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ 5 ประการ รายได้ สิทธิ โอกาส อำนาจ ศักดิ์ศรี ที่ฝังรากลึกอยู่ในเศรษฐกิจ และสังคมไทย ทั้งนี้ การปฏิรูปเท่ากับการปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เสมอภาคนั้นนำไปสู่ความไม่เป็นธรรมโดยมีตัวชี้วัด 5 ประการดังกล่าว
“ในสังคมนี้ผู้ที่มีอำนาจมากและไปสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับสังคม ได้แก่ 1.อำนาจรัฐ 2.อำนาจทุน ฉะนั้นการที่รัฐมีอำนาจมากเกินไป จึงนำไปสู่การพยายามที่จะกระจายอำนาจไปสู่ประชาชน โดยมีความรู้สึกว่าแม้จะมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นนั้นคล้ายกับสาขาอำนาจมากกว่าการกระจาย ฉะนั้นต้องมีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริงเพื่อให้อำนาจไปอยู่ประชาชน”
รศ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประชาชนอยู่ในฐานะด้อยมากเมื่อเทียบกับอำนาจรัฐ รวมถึงอำนาจทุน ซึ่งที่เลวร้ายกว่านั้นคืออำนาจรัฐและอำนาจทุนถูกมัดรวมกัน สาเหตุมาจากปัจจุบันรัฐถูกสร้างขึ้นมาจากอำนาจทุน ทำให้เป็นการเพิ่มเครื่องมือและอำนาจให้รัฐมากยิ่งขึ้น คำถามคือ ภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจเช่นนี้ แรงงานอยู่ตรงไหน
“ในประเทศที่ย่างเข้าสู่ความเป็นอุตสาหกรรมทั่วโลก จะมีคน 2 กลุ่มที่มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งยวดต่อระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม คือนักลงทุนหรือนายจ้างและผู้ใช้แรงงานหรือลูกจ้าง เนื่องจากการลงทุนในธุรกิจและอุตสาหกรรมนั้น GDP มาจากส่วนนี้ 90% ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ปัจจุบัน GDP จึงมาจากภาคการค้าและอุตสาหกรรมกว่า 90% เกษตรกรรมอีก 10%”
รศ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ในระบบการค้าและการอุตสาหกรรม คนที่มีความสำคัญที่สุดคือนายจ้างและลูกจ้าง โดยลูกจ้างไม่ใช่เพียงแต่เอกชนเท่านั้นแต่รวมถึงราชการด้วย ปัจจุบันเรามีนายจ้างประมาณ 1 ล้านคน มีลูกจ้าง 18 ล้านคน มีเกษตรกรแค่ 12 ล้านคน และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น นักร้อง นักแสดง แม่ค้าหาบเร่ อีกประมาณ 8 ล้านคน เบ็ดเสร็จแล้วเรามีกำลังแรงงานที่พร้อมทำงานประมาณ 39 ล้านคน ซึ่งจะเห็นว่าคนส่วนใหญ่คือ ลูกจ้าง
“ลูกจ้างจึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมมาก ยกตัวอย่าง ถ้าเราบอกว่า GDP มาจาก 4 ตัว 1.การบริโภคในครัวเรือน 2.การลงทุนของธุรกิจ 3.ค่าใช้จ่ายของรัฐบาล 4.การนำเข้า-ส่งออก เราจะพบว่าปัจจุบันการบริโภคของครัวเรือนเป็น 55% ของจีดีพี ซึ่งหมายถึง รายได้ 100 บาท มาจากค่าจ้าง 42 บาท ฉะนั้นค่าจ้างจึงมีความสำคัญต่อ GDP มาก แต่เราไม่ให้ความสำคัญกับกำลังซื้อของคน หรือค่าจ้างที่ส่งเสริมกำลังซื้อ”
ทั้งนี้ ประธานคณะทำงานปฏิรูประบบแรงงานและสวัสดิการ กล่าวถึงการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนว่า สิ่งที่ควรต้องทำคือการสร้างอำนาจต่อรองให้ประชาชนมากขึ้น ซึ่งนอกจากอำนาจของคนในท้องถิ่น ยังมีอำนาจของลูกจ้างที่มีความสำคัญต่อ GDP และการกระจายรายได้รวมถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมด้วย
“ในอนุสัญญา INO จะมีคนสามฝ่ายคือนายจ้าง ลูกจ้าง รัฐบาล นั่นคือสิ่งที่สมาชิกยอมรับความควรจะมี คือ อนุสัญญาที่ 87 บอกว่า ลูกจ้าง แรงงาน ผู้ใช้แรงงาน จะต้องมีสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นองค์กร และในอนุสัญญาที่ 97 ลูกจ้างต้องมีสิทธิเสรีภาพในการต่อรองร่วม ซึ่งสังคมไทยไม่เข้าใจทั้งที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมแล้ว โดยทั้งนี้คือการจัดตั้งองค์กรร่วม ของแต่ละฝ่ายและมาตกลงร่วมกัน”
ฉะนั้นในการปฏิรูปเพื่อให้มีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้นนั้น รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่า ให้มีการเซ็นอนุสัญญาที่ 87 และอนุสัญญาที่ 97 เพื่อให้มีสิทธิอำนาจ แต่ประเทศไทยทำไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันเรามีลูกจ้างเอกชน 14 ล้านคน และที่สามารถรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนได้ มีแค่ 5 แสนคน ดังนั้นแปลว่าการส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มต่อรองเกือบจะไม่เกิดในสังคมไทย
“เมื่ออำนาจต่อรองไม่มี ค่าจ้างก็ต่ำ ส่วนแบ่งก็น้อย ประเทศไทยอัตราเติบโตของอุตสาหกรรมโตเร็วมาก ส่งผลความร่ำรวยของคนกลุ่มหนึ่งไปเร็วมากเช่นกัน แต่ขณะเดียวกันอัตราค่าจ้างแรงงานไม่เติบโตตาม เรามีคนร่ำรวยติดอันดับโลก พร้อมกับมีคนยากจนติดอันดับโลกเช่นกัน ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่ความแตกต่างของรายได้ประเทศไทยจะติดอันดับโลกด้วย”
รศ.ณรงค์ กล่าวว่า ในมติสากลกำหนดให้แรงงานทำงานเพียง 8 ชั่วโมงโดยนายจ้างไม่สามารถที่จะบังคับลูกจ้างให้ทำล่วงเวลาได้หากลูกจ้างไม่เต็มใจ แต่ประเทศไทยนั้น หากไม่มีการทำล่วงเวลาค่าจ้างที่ได้รับไม่เพียงพอต่อการภาระทางครอบครัว
“รากฐานประชาธิปไตยนั้นอยู่ในครอบครัวและที่ทำงาน โดยในต่างประเทศให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยในที่ทำงานมาเราหวังเพียงแต่ว่าให้ลูกจ้างมีปากมีเสียงตามที่ควรจะเป็น ฉะนั้น สิ่งแรกที่เราต้องแก้คือความสัมพันธ์เชิงอำนาจของประชาชนต่อรัฐ เอาแค่อำนาจต่อรองและอำนาจการมีส่วนร่วม และจะนำไปสู่อย่างอื่นต่อไป”
นอกจากนี้ในด้านของการปฏิรูปโครงสร้างและกฎหมายด้านที่ดินนั้น อ.อิทธิพล กล่าวว่า ในการประชุมสมัชชาปฎิรูปในปีนี้ มีข้อเสนออยู่ 3 เรื่อง ได้แก่ 1. การบูรณาการจัดการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน และจัดทำแผนการใช้ที่ดินของชาติที่ทุกหน่วยงานยอมรับ เรามีหน่วยงานที่ดูแลทั้งหมด 6 กระทรวง โดยทำงานแบบต่างคนต่างทำ ฉะนั้นจึงต้องมีการแก้ไข
“ทางคณะทำงานเห็นว่าน่าจะต้องมีการรื้อฟื้น พระราชบัญญัติที่ดินขึ้นใหม่ ซึ่งอาจต้องมีการจัดสมัชชาเฉพาะขึ้น ฉะนั้นการมีคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติที่ดี ควรจะต้องดูองค์ประกอบของคณะกรรมการใหม่รวมถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนและท้องถิ่นในการกำหนดนโยบายการบริหารที่ดินของชาติ”
นายอิทธิพล กล่าวต่อว่า ปัญหาอีกเรื่องของที่ดินคือ ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมลดลง ประมาณ 1 ล้านไร่ โดยส่วนใหญ่เปลี่ยนสภาพจากเกษตรกรรมเป็นที่อยู่อาศัย และบางส่วนถูกก่อสร้างเป็นโรงงานหรือบ่อบำบัดน้ำเสีย ทำให้พื้นที่ลดลง ซึ่งถ้าจะปล่อยไว้เช่นนี้ การออกกฎหมายอาจจะไม่ทันการ การคุ้มครองที่ดินเกษตรกรรมอาจไม่ต้องพึ่งกฎหมาย ต้องลงมือทันที เพราะถ้ารอก็อาจจะไม่มีพื้นที่ให้คุ้มครองแล้ว
“คณะทำงานมองว่าถ้ารัฐบาลสนใจเรื่องนี้จริงจัง จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีคณะทำงานโดยเฉพาะในการบูรณาการผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้ว่าที่ดินประเภทใดบ้างที่ควรคุ้มครอง เช่นที่ในเขตชลประทาน และจะสามารถคุ้มครองในลักษณะใดได้บ้าง โดยการคุ้มครองไม่ใช่การบังคับ แต่เป็นการคุ้มครองที่ดินเกษตรกรรมโดยการส่งเสริมเกษตรกร”
นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า ปัญหาการกระจายการถือครองที่ดิน สาเหตุหนึ่งคือ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ใช้กฎหมายปฏิรูปที่ดินสำหรับการปฏิรูปที่ดิน แต่กฎหมายนี้มีเงื่อนไขว่าต้องมีการประกาศเขตเสียก่อนที่จะมีการจัดซื้อหรือเวนคืนที่ดิน เพื่อไม่ให้เจ้าของที่ดินเปลี่ยนการถือครองเพื่อให้จัดซื้อได้รวดเร็ว
“ในเรื่องนี้ คณะทำงานเห็นว่าเป็นไปได้หรือไม่ให้ซื้อได้เลยโดยไม่ประกาศเขต และสามารถซื้อเลยทั่วประเทศในพื้นทีเกษตรที่เจ้าของเต็มใจขาย จะทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้น นอกจากนี้ ถ้าจะทำให้การปฏิรูปที่ดินอย่างทั่วถึงและจริงจัง เป็นไปได้หรือไม่ว่ากฎหมายปฏิรูปที่ดินเป็นกฎหมายที่ใครก็สามารถนำไปใช้ได้ เช่นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นสามารถนำกฎหมายฉบับนี้ไปใช้ได้ โดยให้เขียนโครงการผ่านคณะปฏิรูปที่ดินจังหวัด ซึ่งจะทำให้มีแขนขาอยู่ทั่วประเทศ และมีคนที่รู้จริงอยู่ในท้องถิ่น” นายอิทธิพล กล่าวและว่า ทั้งนี้ ให้เจ้าหน้าที่ สปก.เป็นพี่เลี้ยงดูแลมาตรฐานของการปฏิรูปที่ดินให้เป็นไปตามที่ สปก.แนะนำ เพื่อเป็นไปตามเป้าหมายของการปฏิรูปที่ดิน จะช่วยให้การปฏิรูปที่ดินดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วและกระจายการถือครองที่ดินได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ประธานคณะทำงานปฏิรูปโครงสร้างและกฎหมายด้านที่ดิน กล่าวว่า ในการปฏิรูปที่ดินมุ่งหวังที่จะกระจายสิทธิ์ในการถือครองที่ดิน แต่ว่า 30 กว่าปีที่ผ่านมา รัฐได้มอบหมายการแก้ไขการบุกรุกที่ดินของรัฐให้ สปก. ดูแลฉะนั้น แทนที่จะเป็นการกระจายสิทธิ์กลับเป็นการยืนยันให้ผู้บุกรุก ทั้งนี้คณะทำงานเห็นว่าการแก้ไขการบุกรุกที่ดินของรัฐนั้นควรต้องแยกออกจากปฏิรูปที่ดิน