ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ประมงพื้นบ้าน 22 จังหวัด ยื่นค้าน พรก.ประมง ห้ามหาปลาเกิน 3 ไมล์ทะเล

สังคม
18 ม.ค. 59
13:16
1,192
Logo Thai PBS
ประมงพื้นบ้าน 22 จังหวัด ยื่นค้าน พรก.ประมง ห้ามหาปลาเกิน 3 ไมล์ทะเล
เครือข่ายประมงพื้นบ้าน 22 จังหวัด ยื่นคัดค้าน พรก.ประมง ที่ห้ามเรือประมงพื้นบ้าน ออกทำประมงนอกเขตเกิน 3 ไมล์ทะเล โดยตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายเอื้อประโยชน์ต่อประมงพาณิชย์ และเรือประมงที่ใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย

วันนี้ (18 ม.ค.2559) ที่ศูนย์ดำรงธรรม จ.สงขลา เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านสงขลา ได้รวมตัวเพื่อเข้ายื่นหนังสือคัดค้านพระราชกำหนดประมง ปี 2558 โดยทันทีตัวแทนของศูนย์ดำรงธรรม ระบุว่า จะนำกำลังของทหารเข้ามาดูแลสถานการณ์ ตัวแทนของเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน จ.สงขลา ก็ส่งเสียงโห่ร้อง ก่อนจะยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐยกเลิกมาตรา 34 ของ พรก.การประมงปี 2558 เพราะส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินของชาวบ้าน เนื่องจากโดยปกติแล้วชาวบ้านจะออกทำการประมงวางอวนจับสัตว์น้ำประมาณ 3 -15 ไมล์ทะเล การห้ามทำการประมงไม่เกิน 3 ไมล์ทะเล จึงไม่สามารถทำได้และยังตั้งข้อสังเกตว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เรือประมงพาณิชย์ โดยเฉพาะเรืออวนลากและอวนรุนที่มีประมาณ 20,000 ลำ ให้เข้ามาทำประมงในพื้นที่ใกล้ชายฝั่งได้ ซึ่งหากรัฐยังไม่แก้ไข ก็จะทำให้เกิดความกดดันระหว่างเจ้าของเรือประมงพื้นบ้านกับเจ้าหน้าที่ระดับปฎิบัติการให้ต้องเผชิญหน้ากันมากขึ้น

"กฎหมายนี้ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง และจะกดดันให้เจ้าหน้าที่ระดับล่างปะทะกับประชาชนมากขึ้น ไม่มีประโยชน์เลย ผมยืนยันเลยว่า 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้ากฎหมายออกมา ชาวบ้านชายฝั่ง 22 จังหวัด จะปะทะกับเจ้าหน้าที่กรมประมง เกิดความรุนแรงขึ้นในทะเล ซึ่งเราไม่ต้องการ ต้องมีการแก้ไข เพราะวันนี้กฎหมายประกาศในราชกิจจาแล้ว" นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าว


ขณะที่ชาวบ้านในชุมชนเก้าเส้ง อ.เมืองสงขลา ซึ่งมีเรือประมงพื้นบ้านกว่า 80 ลำ ยังไม่ทราบรายละเอียดของ พรก.ฉบับนี้มากนัก แต่หากรัฐบังคับใช้จริง ก็จะส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินทันที เพราะโดยปกติแล้วชาวบ้านจะออกวางอ้วนหาปูและกุ้งในระยะ 6 ไมล์ทะเล จึงเห็นว่ารัฐควรจัดทำกฎหมายที่เข้มงวดกับเรือประมงที่ใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายมากกว่าชาวประมงที่หาเช้ากินค่ำ

เช่นเดียวกับตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านใน จ.นครศรีธรรมราชได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐแก้ไขกฎหมายประมง เพราะส่งผลกระทบกับเรือประมงมากกว่า 1,000 ลำ และเห็นว่าการออกกฎหมายก็ไม่ได้สอบถามชาวประมงรายย่อยที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ส่วนที่ จ.กระบี่ ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านลงชื่อกว่า 300 คน ทยอยลงชื่อคัดค้านการออกพระราชกำหนดดังกล่าว เพราะส่งผลกระทบต่อชาวประมงพื้นบ้านอย่างมาก และหากรัฐยังคงนิ่งเฉยก็จะกำหนดท่าทีในการเคลื่อนไหวต่อไป

ที่ จ.สตูล ชาวประมงพื้นบ้านจำนวนมากยื่นหนังสือคัดค้านการห้ามทำการประมงนอกเขตที่จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่ ยึดอาชีพประมงเป็นหลัก ทำให้ชาวประมงขาดรายได้จากการจับสัตว์น้ำน้อยลง ขณะที่ชาวประมงอวนล้อมจับใน จ.ปัตตานีกว่า 200 ลำได้ยื่นหนังสือผ่านศูนย์ดำรงธรรมเพื่อให้ทบทวนกรณีที่รัฐกำหนดให้หยุดทำการประมง 3 วันภายใน 1 เดือนซึ่งทำให้ชาวประมงเสียรายได้กว่าแสนบาท

ทั้งนี้การออกมาเคลื่อนไหวของชาวประมงพื้นบ้านใน 22 จังหวัดครั้งนี้เกิดขึ้น เพราะชาวประมงพื้นบ้านเห็นว่า เป็นการจำกัดสิทธิในการทำการประมงของเรือประมงขนาดเล็กหรือเรือประมงขนาดระวางต่ำกว่า 10 ตันกรอส ซึ่งมีมากกว่าร้อยละ 80 ของชาวประมงทั้งหมด และยังทำให้ชาวประมงพื้นบ้านที่มีกว่าร้อยละ 80 แย่งชิงจับสัตว์น้ำในพื้นที่แคบ และอาจสร้างความขัดแย้งระหว่างชาวประมงกันเอง นอกจากนี้ยังเห็นว่า มาตรการนี้ยังเอื้อต่อประมงพาณิชย์ ซึ่งมีเพียงส่วนน้อยได้ทำการประมงตั้งแต่ 3 ไมล์ทะเล ไปจนสุดเขตเศรษฐกิจจำเพาะหรือประมาณ 200 ไมล์ทะเล

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง