ปัญหาค่าครองชีพจากประชานิยมที่ผิดพลาด

21 มี.ค. 55
14:01
20
Logo Thai PBS
ปัญหาค่าครองชีพจากประชานิยมที่ผิดพลาด

ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานว่ารายได้เฉลี่ยของลูกจ้างปี 2554 เพิ่มขึ้น แต่ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อดัชนีเงินเฟ้อ และเงินในกระเป๋า ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่าส่วนหนึ่งเป็นความผิดพลาดในการบริหารนโยบายประชานิยมของรัฐบาล

ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับขึ้นกันแทบทุกสัปดาห์ ทำให้ข้าวของ ค่ารถ ค่าเรือทยอยขอปรับขึ้นทุกรายการ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติประเมินว่าราคาน้ำมันดีเซลและเบนซินที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 บาท จะทำให้ดัชนีเงินเฟ้อขยายตัวร้อยละ 0.2 - 0.3 ซึ่งหมายถึงค่าเงินในกระเป๋าลดลง

แม้รายงานจากแบงก์ชาติจะชี้ว่ารายได้เฉลี่ยของลูกจ้างประจำปี 2554 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับปี 2553 แต่ประชาชน กลับไม่รู้สึกเช่นนั้น นักเศรษฐศาสตร์อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่าปัจจัยหลายอย่างที่ประเดประดังพร้อมกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลดำเนินนโยบายประชานิยมแบบขาดๆ เกินๆ จนบิดเบือนกลไกตลาด

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน หยิบยกตัวอย่างความผิดพลาดในการบริหารนโยบายพลังงาน ทั้งในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ลดการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อตรึงราคาไม่เกิน 30 บาท และรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ราคาเบนซิน และดีเซลลดลงทันที เป็นการใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงโดยไม่จำเป็น เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกขณะนั้นไม่สูง แต่รัฐบาลกลับจงใจใช้เป็นเครื่องมือรักษาคะแนนความนิยมทางการเมือง

และเมื่อปัจจุบันราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่กองทุนน้ำมันฯ ไม่สามารถบรรเทาปัญหาค่าครองชีพได้อย่างเต็มที่ เพราะไม่มีเงินจะอุดหนุนราคาพลังงาน รัฐบาลจึงต้องกู้เงินกว่า 50,000 ล้านบาท เพื่อตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเท่ากับย้อนกลับไปวังวนความผิดพลาดเดิม

ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานชี้ว่าหากสถานการณ์ในตะวันออกกลางเกิดความตึงเครียด อาจราคาน้ำมันในตลาดโลก ปรับเพิ่มขึ้นกว่าบาเรลล์ละ 150 - 160 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าช่วงเกิดวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2551 รัฐบาลอาจต้องตั้งงบประมาณแผ่นดิน เพื่ออุดหนุนราคาน้ำมัน หากเป็นเช่นนั้น จะถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่คนไทยทั้งประเทศต้องจ่ายเงินภาษี เพื่อช่วยผู้ใช้รถใช้น้ำมัน

ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยแสดงความเป็นห่วงต่อภาระงบประมาณของรัฐบาลขาดดุลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.4 ของจีดีพี ต่อเนื่องนานกว่า 7 ปี หรืออาจทำให้คนไทยมีหนี้สินเพิ่มขึ้นจากคนละ 60,000 บาทเป็น 100,000 บาทได้ไม่ยากนัก

ความผิดพลาดจากการบริหารพลังงานเพียงหวังรักษาฐานอำนาจการเมือง จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลทุกยุคต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน เพราะแสดงให้เห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง