ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ม.อ.ปัตตานีรวมตัวร้องนายกฯ-ไม่เอาโรงไฟฟ้าเทพา ชี้ส่งผลกระทบทั้งสิ่งแวดล้อม-ชุมชน

สิ่งแวดล้อม
22 ม.ค. 59
15:51
348
Logo Thai PBS
ม.อ.ปัตตานีรวมตัวร้องนายกฯ-ไม่เอาโรงไฟฟ้าเทพา ชี้ส่งผลกระทบทั้งสิ่งแวดล้อม-ชุมชน
นศ.ม.อ.ปัตตานี อ่านแถลงการณ์ระหว่างรวมตัวคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลา ระบุส่งผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน

วันนี้ (22 ม.ค.) ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี เครือข่ายนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เพื่อความเป็นธรรม ร่วมกับเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) จัดเวทีเสวนาสว่างภายใต้เงาดำ “บทบาทนักศึกษาและประชาชนกับมหันตภัยร้ายโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” โดยเวทีจะจัดขึ้นที่ตึก 58 ห้อง 58303 เวลา 13.30-14.30 น. หลังจากจบเวทีเสวนามีกิจกรรมเดินขบวนรณรงค์หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ไปศาลากลางจังหวัดปัตตานี

นายดิเรก เหมนคร กล่าวในการเสวนาว่า พื้นที่ถูกกำหนดให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อ.เทพา จ.สงขลา มีคนประมาณ 3,000 คน มีมัสยิดสองแห่ง มีกุโบร์ มีปอเนาะ มีวัดหนึ่งแห่ง มีความอุดมสมบูรณ์ พื้นที่เช่นนี้หรือที่ควรนำมาทำโรงไฟฟ้าถ่านหิน ปกติผังเมืองอ.เทพาเป็นสีเขียว สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ได้ แต่รัฐบาลมีการออก ม. 44 ให้ทำโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ ใช้อำนาจ ใช้ความไม่ชอบธรรม ใช้เงิน ใช้วิชามาร ทำทุกอย่างเพื่อให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสกปรกให้ได้ ขอถามว่าทำแบบนี้ถูกต้องชอบธรรมแล้วหรือ

ด้าน นายคอนดูล ปาลาเร่ ประธานชมรมอนุรักษ์ มอ.ปัตตานี กล่าวว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามีขนาด 2,200 เมกาวัตต์ ทำไมไม่ศึกษาผลกระทบพื้นที่ติดต่อกับจ.ปัตตานี เพราะทะเลอ.เทพา ทะเลจ.ปัตตานี ก็ทะเลเดียวกัน ป่าชายเลนก็ผืนเดียวกัน อากาศทิศทางลมควันก็พัดลอยมาถึงกัน การไม่ศึกษาผลกระทบที่ปัตตานีจึงฉ้อฉล และประโยคของมหาลัยที่ว่า ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง จึงเรียกร้องต่อนักศึกษาปัญญาชน ให้ออกมาแสดงออก ต่อกรณีนี้ เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรม

นายมูฮัยมิง อาลี อุปนายกองค์การนักศึกษา มอ.ปัตตานี บอกว่า วันนี้ฝนตกและเป็นวันศุกร์ หลายคนต้องกลับบ้าน แต่เมื่อมาถึงห้องประชุม นักศึกษาเต็มห้องดีใจมาก ดีใจที่นักศึกษามาร่วมค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะสร้างหายนะกับสังคมกับสิ่งแวดล้อม ที่อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช นักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เคยขับไล่โรงไฟฟ้าถ่านหิน เคยไล่บริษัทเชฟรอนออกไปแล้ว วันนี้นักศึกษา มอ.ปัตตานี จะทำเช่นนั้น การย้ายกุโบร์ มัสยิด ปอเนาะ ซึ่งเป็นที่ดินวากัฟ เป็นสิ่งที่พี่น้องมุสลิมยอมรับไม่ได้ ทะเลวันนี้ยังมีความสมบูรณ์ การมีโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ ทะเลจะไม่มีอากาศบริสุทธิ์ วันนี้เรานักศึกษา มอ.ปัตตานีและภาคประชาชนจะร่วมเดินขบวนไปยังหน้าศาลากลางปัตตานี เพื่อแสดงเจตนารมย์และบ่งบอกถึงสิทธิ และข้อเรียกร้องของเรา

น.ส.อิห์ซาน นิปิ จากมหาวิทยาฟาฎอนี จ.ยะลา กล่าวว่า นักศึกษาฟาฎอนีได้มาออกค่ายที่อ.เทพา จ.สงขลา พื้นที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินพบว่า ที่นั่นมีความอุดมสมบูรณ์มาก ลงไปในคลอง สามารถจับปลากระบอกด้วยมือเปล่าได้ เพราะมีปลาจำนวนมาก มีป่าชายเลนที่สมบูรณ์มาก มีสวนยาง มีทะเลที่สวยงามและสมบูรณ์ แต่ กฟผ.และฝ่ายสนับสนุนกลับบิดเบือนให้ข้อมูลสังคมว่าอ.เทพาเหมือนทะลทราย แห้งแล้งและยากจน ซึ่งเป็นการกล่าวเท็จอย่าวน่ารังเกียจ หากโรงไฟฟ้าถ่านหินมาตั้ง สุขภาพคนในพื้นที่จะแย่ สิ่งแวดล้อมจะเสื่อมโทรม และการปกป้องชุมชนเป็นหน้าที่ของเรา ยิ่งคนมุสลิม ยิ่งต้องปกป้องสังคมไม่ให้ถูกทำลายจากถ่านหินสกปรก

ขณะที่นายตูแวดานียา ตูแวแมแง แกนนำภาคประชาชน ระบุว่า ถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาสร้างได้ วิถีวัฒนธรรมในพื้นที่จะถูกทำลายสันติภาพและความสงบก็จะมีเงื่อนไขต่อการสร้างสันติภาพได้ เหตุความไม่สงบก็เครียดมากแล้ว ทำไมยังส่งควันพิษ หมอกควัน มลพิษ น้ำเสีย จากโรงไฟฟ้าถ่านหินมาให้คนปัตตานี เทพาอีก โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะปล่อยมลพิษมาก ไม่เลือกฝ่าย ไม่ใช่กระทบคนหลักสิบหลักร้อย แต่กระทบคนเป็นแสน ซึ่งจะหนักหนาสาหัสกว่าเหตุความไม่สงบมาก แม้มีเทคโนโลยีที่พูดไว้ก็ตาม แต่ก็มักกรองได้ไม่เกิน 90% ส่วนที่เหลือก็ยังทำให้เป็นมะเร็งในระยะยาว อีกเงื่อนไขคือ อำนาจรัฐให้ พ.ร.บ.ความมั่นคงควบคุมสถานการณ์ไม่พอ ประชาชนจะคัดค้านมาก เชื่อว่าในที่สุดก็ต้องนำ พ.ร.บ.ฉุกเฉินกลับมาใช้ กรณีการเกิดระเบิดที่เทพาเมื่อไม่กี่วันนี้ อาจเป็นการส่งสัญญาณให้กับฝ่ายความมั่นคงก็เป็นได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการสันติภาพเลย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น.เศษ ที่ด่านความมั่นคงบริเวณช่วงเลี้ยวเข้าเมืองใกล้ห้างบิ๊กซี อ.เมือง จ.ปัตตานี ได้มีเจ้าหน้าที่ทำการสกัดกั้นรถกระบะ และจักรยานยนต์ พร้อมด้วยกลุ่มประชาชนที่เดินทางมาจาก อ.เทพา จ.สงขลา โดยมีเป้าหมายเข้าร่วมเวทีค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ ม.อ.ปัตตานี มีการตรวจยึดใบขับขี่ และกักไม่ให้เดินทางต่อ ซึ่งใช้เวลาเจรจากันราว 1 ชั่วโมง จึงยอมปล่อยให้เดินทางต่อเมื่อเลยเวลา 14.00 น.ไปแล้ว

นอกจากนี้ กลุ่มนักศึกษายังออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ระบุว่า “ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ประโยชน์ส่วนตนเป็นกิจที่สอง” จากปณิธานข้างต้น ข้าพเจ้าและนักศึกษา ได้ตระหนักและถือปฏิบัติมา ซึ่งจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา มีขนาดใหญ่ถึง 2,200 เมกะวัต ต้องเผาถ่านหินวันละ 23 ล้านกิโลกรัม และใช้น้ำจากน้ำทะเลถึงวันละ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร มีเนื้อที่โครงการ 2,960 ไร่ ซึ่งมีระยะห่างจากปัตตานีเพียง 3 กิโลเมตร และมีป่าชายเลนที่มีเนื้อที่ ประมาณ 10,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่จาก อ.เทพา จ.สงขลา จนถึง อ.หนองจิก อ.เมือง อ.ยะหริ่ง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ซึ่งมีทะเลผืนเดียวกัน สำหรับการทำมาหากินที่มีมาแต่บรรพบุรุษ

โครงการดังกล่าวได้ทำลายฐานทรัพยากรชีวิต ของคนสงขลาและจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีวัฒนธรรมการดำรงชีวิต ที่ข้องเกี่ยวกับทะเลเป็นหลัก และส่งผลกระทบต่อประชาชน ระบบนิเวศ และห่วงโซ่อาหารโดยรวมทั้งหมด จากการปนเปื้อนของโลหะหนัก รวมทั้งมลพิษที่ปล่อยออกจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งมีขนาดฝุ่นละออง 2.5 ไมครอน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบประสาท หลอดเลือด หัวใจ อีกทั้งยังเป็นมลพิษข้ามแดน ที่ไปไกลถึง 1,000 กิโลเมตร และคงอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นาน

การแสดงจุดยืนครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการขัดขวางการพัฒนา แต่เพียงอยากให้การพัฒนาอยู่บนพื้นฐาน วัฒนธรรม และสิ่งดีงาม ที่มีมาแต่บรรพบุรุษจะเป็นอย่างไร ถ้าอนาคตข้างหน้า สงขลา เทพา จะนะ และปาตานี แผ่นดินที่มีจิตวิญญาณ ถูกทับถมด้วยปูนซีเมนต์ ปล่องท่อ และหมอกควัน

 

“ทำไมแผ่นดินที่เราร่วมกันรักษาจะต้องมีคนมาเอาไป เพียงเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อย ในขณะที่คนยากคนจน ต้องเป็นคนเสียสละ” ในนามเครือข่ายนักศึกษาม.อ.ปัตตานี ขอเรียกร้อง ต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พิจารณาให้ประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ ได้มีส่วนร่วมพิจารณาตัดสินใจต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไป

ขอบคุณภาพ : วันชัย พุทธทอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง