วันนี้ (25 ม.ค.259) เป็นวันแรกที่รัฐบาลเริ่มโครงการรับซื้อยางพาราในราคาชี้นำ ตลาดทำให้หลายพื้นที่ในภาคใต้ มีเกษตรกรชาวสวนยาง นำยางพารามาขายจำนวนมาก แต่การจำกัดสิทธิของเกษตรให้จำหน่ายได้เพียงรายละไม่เกิน 150 กิโลกรัม และต้องขึ้นทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทำให้หลายคน ไม่สามารถจำหน่ายยางในโครงการนี้ได้
เกษตรกรชาวสวนยางใน ต.ท่าข้าม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ทยอยเดินทางนำน้ำยางสดมาขายที่จุดรับซื้อที่กลุ่มสหกรณ์การยางบ้านหนองบัวพัฒนาการยางอำเภอหาดใหญ่จังหวัดสงขลา ตามโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐซึ่งเริ่มรับซื้อยางพาราราคาชี้นำตลาดในวันนี้ โดยหลายคน ระบุว่า ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็จะเข้าสู่ฤดูกาลผลัดใบของต้นยางหรือฤดูกาลปิดกรีด ประกอบกับเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในแปลงปลูกยางก็ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ หลายคนจึงไม่เชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้มากนัก
ขณะที่ประธานกลุ่มสหกรณ์บ้านหนองบัวพัฒนาการยางเห็นว่า วิธีการนี้จะช่วยทำให้ปริมาณยางในระบบหายไปส่วนหนึ่ง
ในจังหวัดสงขลาเปิดตลาดรับซื้อยางพารารวม 46 จุด โดย สกย. เขต 1 จำนวน 35 จุด และ สกย.เขต 2จำนวน 11 จุด ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นเกษตรกรชาวสวนยางที่ ขึ้นทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และมีบัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวเกษตรกรชาวสวนยาง หรือหลักฐานที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ไว้แล้ว โดยทางการจะรับซื้อยาง 3 ประเภท
คือ ยางแผ่นดิบคุณภาพชั้น 3 ความชื้นไม่เกินร้อยละ 3 รับซื้อในราคากิโลกรัมละ 45 บาท น้ำยางสดมีปริมาณเนื้อยางแห้งไม่ต่ำกว่าร้อยละ 28 และไม่มีสิ่งปลอมปน รับซื้อในราคาประมาณกิโลกรัมละ 42 บาท และยางก้อนถ้วยมีปริมาณเนื้อยางแห้ง ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 55 รับซื้อในราคาประมาณกิโลกรัมละ 41 บาท แต่จำกัดสิทธิให้จำหน่ายได้ไม่เกิน 150 กิโลกรัม โดยจะดำเนินการรับซื้อตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.