ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รัฐสภาวุ่นโหวตรายงานแผนปรองดอง

การเมือง
28 มี.ค. 55
01:52
10
Logo Thai PBS
รัฐสภาวุ่นโหวตรายงานแผนปรองดอง

รัฐสภาลงมติด้วยเสียง 346 ต่อ 13 เสียง เห็นชอบให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณารายงานสรุปของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ แต่นอกเหนือไปจากการรับพิจารณารายงาน สมาชิกรัฐสภายังเสนอให้มีการเลื่อนวาระขึ้นมาพิจารณาเร็วกว่าเดิม จากที่เสนอให้อยู่ในลำดับที่ 6 ขึ้นมาเป็นลำดับที่ 3

การเสนอเลื่อนการพิจารณา ทำให้เกิดการอภิปรายอย่างเผ็ดร้อนทั้งฝ่ายสนับสนุน และคัดค้าน ซึ่งในที่สุดก็มีมติให้เลื่อนลำดับการพิจารณาขึ้นมาตามข้อเสนอของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย

การเสนอให้เลื่อนวาระการประชุม ขอให้รัฐสภามีมติให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ในสมัยประชุมนิติบัญญัติตามมาตรา 136 (5) เพื่อให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาเป็นลำดับที่ 3 จากเดิม เป็นเรื่องเสนอใหม่อยู่ในลำดับ 6 ของวาระ

ซึ่งข้อเสนอของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ก็ถูก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายคนลุกขึ้นประท้วงคัดค้าน ส่วน ส.ส.พรรคเพื่อไทยลุกขึ้นประท้วงสนับสนุน จนกลายเป็นเหตุความวุ่นวายอย่างต่อเนื่องในการประชุมรัฐสภาเมื่อวานนี้

แม้ท้ายที่สุดหลังอภิปรายสนับสนุน และคัดค้านจาก ส.ส.ของทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อคืนที่ผ่านมา เวลา 21.30 น. รัฐสภาก็ลงมีมติให้เลื่อนวาระจากลำดับ 6 มาเป็นลำดับ 3 ด้วยคะแนน 348 ต่อ 163 เสียง และเวลาประมาณ 23.00 น. รัฐสภาลงมติด้วยคะแนน 346 ต่อ 13 เสียงเห็นชอบให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณารายงานสรุปของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติได้

ย้อนกลับไปในช่วงที่มีการอภิปรายอย่างเผ็ดร้อน ซึ่งในช่วงหนึ่งของเหตุการณ์ระหว่างการอภิปราย โดย ส.ส.ในรัฐสภากลุ่มหนึ่งได้เดินเข้ารุมล้อม พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ส.ส.พรรคมาตุภูมิ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการปรองดองฯ เพื่อร้องขอให้ลุกขึ้นชี้แจงเหตุผลของความเร่งรีบในการเสนอรายงานสรุปการสร้างความปรองดองต่อสภาผู้แทนราษฏร ขณะที่ ส.ส.อีกกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันแสดงความไม่เห็นด้วยต่อความพยายามในการกดดัน พล.อ.สนธิ จนกลายเป็นความวุ่นวายระหว่างการประชุม

แต่ท้ายที่สุด พล.อ.สนธิ ก็ยอมลุกขึ้นอภิปรายชี้แจง โดยระบุถึงเจตนาที่อาสาเข้ามาทำงานเป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ เพราะต้องการสร้าง ความรัก ความปรองดองให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง และย้ำว่าความขัดแย้งนั้นเกิดขึ้นในระบบรัฐสภา และขยายออกไปนอกรัฐสภา

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายตอบโต้ โดยระบุว่า ไม่ได้ต้องการเห็นความขัดแย้งทั้งใน และนอกรัฐสภา พร้อมเสนอให้ถอนรายงานการสร้างความปรองดองของคณะกรรมาธิการฯออกไป และหารือทบทวนรายงานใหม่ เพราะหากนำผลวิจัยของสถาบันพระปกเกล้ามายึดโยงกับเสียงข้างมากในสภาฯอาจกลายเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งรอบใหม่

หลังการลงมติเห็นชอบให้รับพิจารณาแนวทางสร้างความปรองดองของคณะกรรมาธิการฯมีการคาดการณ์ว่าน่าจะมีการพิจารณากันในวันที่ 4 เมษายนในวาระแรก ก่อนที่กรรมาธิการแก้รัฐธรรมนูญจะเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมให้สภาฯพิจารณาวาระ 2 ในวันที่ 10 เมษายน และวันที่11 เมษายน และพิจารณาเห็นชอบวาระ 3 กันในวันที่ 30 เมษายน ก่อนจะปิดสมัยประชุมที่ยืดเวลาจากวันที่ 18 เมษายน ออกมาถึงวันที่ 30 เมษายน
 


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง