ทูตต่างประเทศเยี่ยมชมแหล่งโบราณสถานหลังน้ำลด

Logo Thai PBS
ทูตต่างประเทศเยี่ยมชมแหล่งโบราณสถานหลังน้ำลด

ภายหลังการจมน้ำนานเป็นระยะเวลาเกือบเดือนของโบราณสถานที่ถูกยกย่องให้เป็นมรดกโลก ภายในพื้นที่ จ .พระนครศรีอยุธยาได้ฟื้นคืนสภาพเกือบเหมือนเดิม โดยที่กระทรวงวัฒนธรรมได้พยายามเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาอีกครั้งด้วยการเชิญทูตกว่า 20 ประเทศเยี่ยมชมแหล่งโบราณสถานหลังน้ำลด โดยต่างมีความเห็นตรงกันว่า เสน่ห์เมืองมรดกโลกไม่เคยเปลี่ยน แต่จะให้ยั่งยืนต้องปลูกจิตสำนึกให้คนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยว

แม้ภายนอกอาจมองไม่เห็นร่องรอยความเสียหายมากนัก แต่ลึกลงไปใต้ก้อนอิฐอาจมีการชำรุดสึกกร่อนได้ จึงจำเป็นต้องบูรณะรั้วรอบตลอดจนทางเดินของวัดมเหยงค์ โบราณสถานอีกแห่งที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมปลายปี พ.ศ.2554 ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างรากฐานให้มั่นคงแข็งแรง โดยถือว่าวัดดังกล่าวเป็นหนึ่งในสถานที่ที่คณะทูตานุทูตจาก 20 ประเทศ เยี่ยมชมในโครงการวัฒนธรรมสัญจรแหล่งมรดกโลก จ.พระนครศรีอยุธยา ในการสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวกลับมาเยือนนครแห่งประวัติศาสตร์อีกครั้ง ภายหลังน้ำลดจนแห้งสนิท

นายอนิล วาธวา เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย หนึ่งในทูตานุทูตที่ร่วมคณะในครั้งนี้ กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกที่เขาได้มาเยี่ยมชมอยุธยา หลังจากเคยเห็นผ่านทางภาพถ่ายและอ่านจากหนังสือ แม้จะยังมีคราบความเสียหายจากน้ำท่วมหลงเหลืออยู่ แต่ก็ดีใจที่โบราณสถานต่าง ๆ ได้รับการฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว และจ.พระนครศรีอยุธยายังคงเป็นเมืองที่มีเสน่ห์อยู่เต็มเปี่ยม

ขณะที่นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ในครั้งนี้ได้มีการเชิญท่านทูตแต่ละประเทศมาเยี่ยมชมโบราณสถานที่สำคัญใน จ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากในช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมาเราได้รับความร่วมมือจากหลายประเทศ จนขณะนี้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ตามปกติซึ่งจะมีบางจุดเท่านั้นเองที่ยังคงเป็นจุดเสี่ยง

แม้ผลสำรวจพบว่า ความเสียหายที่เกิดกับโครงสร้างของโบราณสถานหลายแห่งจะไม่รุนแรงมากนัก แต่การต้องแช่อยู่ในน้ำนานกว่า 1 เดือน ทำให้มีการกันพื้นที่เสียงต่อการพังทลายหลายจุด โดยเฉพาะอุทยานประวัติศาสตร์ฯ ภายในเกาะเมือง

ขณะที่วัดมหาธาตุ ก็ถือว่าเป็นอีกจุดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยจะพบว่า ก่อนหน้านี้ระดับน้ำได้ท่วมสูงขึ้นมาเกือบถึงพระเศียร จึงต้องมีการล้อมรั้วเพื่อป้องกันความเสียหายเพิ่มเติม
 
โดยนายภัทรพงษ์ เก่าเงิน นักโบราณคดีชำนาญการ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จากผลสำรวจความเสียหายของโบราณสถานยังถือว่าค่อนข้างน่าพอใจ เนื่องจากมีการทรุดเอียงมีน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในการสำรวจโครงสร้าง ซึ่งจะมีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ  3 เดือน ถ้าค่าของความทรุดเอียงมันนิ่ง คือไม่มีการทรุดเอียงเพิ่มขึ้น ก็เป็นที่น่าไว้วางใจได้ว่า โบราณสถานเหล่านี้คงไม่พังทลายลงมา

แม้การบูรณะจะไม่ใช่วิธีอนุรักษ์ที่ยั่งยืน แต่การร่วมมือของหลายฝ่ายเป็นสัญญาณที่ดีในการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกในระยะยาว ซึ่งตรงกับบทสรุปการแลกเปลี่ยนความเห็นของคณะทูต ว่า ควรเริ่มจากการปลูกฝังจิตสำนึกให้นักท่องเที่ยวรวมถึงชาวบ้าน ให้รักและเห็นคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรม และร่วมกันปกป้องพื้นที่ซึ่งต่างมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง