นักวิชาการหวั่นผลกระทบขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน ทำ"เงินเฟ้อพุ่ง-สินค้าแพง"

เศรษฐกิจ
30 มี.ค. 55
15:02
11
Logo Thai PBS
นักวิชาการหวั่นผลกระทบขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน ทำ"เงินเฟ้อพุ่ง-สินค้าแพง"

การปรับค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดถึงร้อยละ 40 ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี 4 เดือนนับจากการปรับขึ้นค่าจ้างครั้งล่าสุดเมื่อต้นปีที่แล้ว ทำให้ผู้ใช้แรงงานใน 7 จังหวัดนำร่องจะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 300 บาทในวันที่ 1 เม.ย.นี้

<"">
  
<"">

แม้นโยบายดังกล่าวจะช่วยเพิ่มกำลังการซื้อให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน แต่นักวิชาการและภาคเอกชนเป็นห่วงถึงผลกระทบที่ตามมา โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. จะติดตามนโยบายดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ทั้งต้นทุนของผู้ประกอบการ และการใช้จ่ายของประชาชน ขณะที่ รศ.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องบริหารจัดการให้มีความสมดุลระหว่างรายได้ที่เพิ่มและสินค้าต้องมีเพียงพอ เพื่อไม่ทำให้เงินเฟ้อสูงเกินไป

ขณะที่ นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันจะทำให้ต้นทุนของสินค้าเพิ่ม และผู้ประกอบการต้องปรับราคาสินค้าอีก 5-10 ในช่วงครึ่งปีหลัง ท้ายที่สุดประชาชนก็เป็นผู้แบบภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ก่อนหน้านี้ กรมการค้าภายในศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับราคาสินค้าพบว่าโครงสร้างของต้นทุนและราคาสินค้า ซึ่งต้นทุนวัตถุดิบ อยู่ประมาณร้อยละ 70-90 ขณะที่ต้นทุนค่าแรงงานมีเพียงร้อยละ 1 - 5 เท่านั้น ดังนั้นการขึ้นค่าแรงจะมีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าบางรายการที่แรงงานผลิตเป็นหลัก อาทิ สินค้าเครื่องแบบนักเรียน เยื่อกระดาษ ซึ่งผู้ประกอบการบางรายอาจย้ายฐาน หรือปิดกิจการได้

สำนักข้อมูลและวิจัยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมวิเคราะห์ผลกระทบ นโยบายค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ พบว่าการปรับค่าจ้างครั้งล่าสุด จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเอสเอ็มอีมากที่สุด เนื่องจากมีต้นทุนเพิ่มกว่าร้อยละ 6 และนอกจากผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อ สินค้าแพงแล้ว นโยบายนี้อาจจะทำให้แรงงานไทยต้องตกงาน ซึ่งคงต้องมาประเมินภายหลัง เมื่อนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.นี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง