ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักวิชาการชี้โอกาสไทยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เป็นไปได้น้อย

ต่างประเทศ
27 เม.ย. 58
02:02
66
Logo Thai PBS
นักวิชาการชี้โอกาสไทยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เป็นไปได้น้อย

ประเทศเนปาลเคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ โดยมีขนาด 8.0 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่แผ่นดินไหวขนาด 7.8 ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ก็มีความรุนแรงเช่นกัน โดยสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างให้กับประเทศเนปาลและยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาหลายครั้ง ขณะที่นักวิชาการ ระบุว่า โอกาสที่ประเทศไทยจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เหมือนกับเนปาลเป็นไปได้น้อย

รศ.เสรี ศุกภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ประเทศเนปาลอยู่ในพื้นที่สีแดง หมายความว่า เป็นพื้นที่เสี่ยงมากหากเกิดแผ่นดินไหวเพราะตั้งอยู่บนรอยเลื่อน เมื่อประมาณ 80 ปีที่ผ่านมาเคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 8.0 ที่ประเทศเนปาลมาแล้ว จากข้อมูลของสำนักงานธรณีวิทยาสหรัฐฯ เปิดเผยว่า แผ่นเปลือกโลกอินเดียกำลังมุดใต้แผ่นเปลือกโลกยูเรเซียประมาณ 5 เซนติเมตรต่อปี เมื่อมีการสะสมพลังงานเพียงพอจึงมีการปลอดปล่อยออกมาทำให้เกิดแผ่นดินไหว เปลือกโลกนี้เป็นเปลือกเดียวกันกับที่ทำให้เกิดสึนามิในประเทศไทย

แผ่นดินไหวที่เนปาลครั้งนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นใน จ.เชียงราย จะมีความรุนแรงมากกว่าประมาณ 30 เท่า หากเปรียบเทียบกับมาตรวัดเมอคัลลี่จะพบว่า แผ่นดินไหวขนาด 7.8 ที่เนปาล จะมีความรุนแรงระดับวินาศภัย ทำให้โครงสร้างของอาคารที่อยู่ในรัศมี 100 กิโลเมตรพังได้หากสร้างไม่ได้มาตรฐาน

แต่หากดูจุดที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้จะพบว่าอยู่ห่างจากเมืองกาฐมาณฑุ แต่ก็ทำให้อาคารบ้านเรือนพังเสียหายจำนวนมาก รศ.สรี กล่าวว่า อัตราเร่งบนผิวดินที่อาคารบ้านเรือนในเมืองกาฐมาณฑุ ได้รับประมาณ 0.1G เทียบได้กับแผ่นดินไหวขนาด 5-6 ริกเตอร์แต่ที่เกิดความเสียหายจำนวนมาก รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เป็นเพราะดินในบริเวณนั้นเป็นกลุ่มดินหลวม เมื่อเกิดแผ่นดินไหวดินข้างจะขยายความรุนแรงขึ้นมา ทำให้ตัวอาคารเอียงและล้ม เพราะตัวรากฐานของอาคารไม่สามารถรองรับน้ำหนักได้

สำหรับประเทศไทย โอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เหมือนกับเนปาลเป็นไปได้น้อย โดย รศ.สุทธิศักดิ์ กล่าวว่า ไทยไม่ได้ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนของแผ่นเปลือกโลกเหมือนกับเนปาล จะมีเพียงรอยเลื่อนที่มีขนาดเล็กกว่า ทำให้ความรุนแรงแตกต่างกัน และเมื่อวานนี้ (26 เม.ย.2558) ยังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.7 ที่ประเทศเนปาล ศ.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เป็นลักษณะของอาฟเตอร์ช็อค เพราะมีขนาดเล็กกว่าแผ่นดินไหวที่เกิดในครั้งแรก ซึ่งตามกฏของโบธ ระบุว่า ขนาดสูงสุดของอาฟเตอร์ช็อกจะน้อยกว่าเมนช็อกประมาณ 1.2 หน่วย ดังนั้นแผ่นดินไหวขนาด 6.7 ยังเป็นลักษณะของอาฟเตอร์ช็อก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง