ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สำรวจไม้ผล 4 ชนิดภาคตะวันออก ระบุ "ทุเรียน-มังคุด-ลองกอง" ผลผลิตลด เหตุโลกร้อน

สิ่งแวดล้อม
31 มี.ค. 55
10:34
104
Logo Thai PBS
สำรวจไม้ผล 4 ชนิดภาคตะวันออก ระบุ "ทุเรียน-มังคุด-ลองกอง" ผลผลิตลด เหตุโลกร้อน

เหตุจากสภาอากาศแปรปรวนมีฝนตกหลงฤดู ด้านผลผลิต เงาะ ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระบุ ผลผลิตโดยรวมไม้ผลทั้ง 4 ชนิดที่จะออกสู่ตลาด ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม ถึง สิงหาคม และออกกระจุกตัวสูงสุดในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้

นายพลเชษฐ์  ตราโช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 ชลบุรี (สศข.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในการดำเนินการบูรณาการในรูปคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยได้ร่วมกันลงพื้นที่สำรวจข้อมูลไม้ผลภาคตะวันออกปี 2555 ของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด (ทุเรียน  มังคุด  เงาะ และลองกอง) ใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดระยอง  จันทบุรี และตราด พบว่า มีเนื้อที่ยืนต้นรวม 766,423 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว 25,050 ไร่  คิดเป็นร้อยละ 3  เนื้อที่ให้ผล 680,774 ไร่  ลดลง 8,906 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 1 มีปริมาณผลผลิตโดยรวม 709,908 ตัน ลดลง 48,949 ตัน คิดเป็นร้อยละ 6  โดยผลผลิตที่ลดลงได้แก่ ทุเรียน มังคุด และลองกอง สาเหตุจากสภาพอากาศแปรปรวนมีฝนตกหลงฤดูในช่วงปลาย ธ.ค. – ม.ค. และปลาย ก.พ. ทำให้แตกใบอ่อน ดอกร่วง สลัดลูกทิ้ง ค่อนข้างมาก  แต่กลับส่งผลดีกับผลผลิตของ

เงาะ ที่ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยและทำให้เงาะรุ่นหลังนี้จะออกสู่ตลาดพร้อมกันในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนมิถุนายน ซึ่งอาจเกิดปัญหาราคาตกต่ำ สำหรับการกระจายตัวของผลผลิตโดยรวมทั้ง 4 ชนิดที่จะออกสู่ตลาด เริ่มตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม – สิงหาคม โดยจะออกกระจุกตัวสูงสุดในช่วงเดือนพฤษภาคม 2555 กว่าร้อยละ 40 ของผลผลิตโดยรวม หรือประมาณ 3 แสนตัน และเมื่อวิเคราะห์ถึงไม้ผลแต่ละชนิด

พบว่า ทุเรียน  สถานการณ์การผลิตทุเรียนของ 3 จังหวัดภาคตะวันออกปี 2555 พบว่า มีเนื้อที่ยืนต้น 278,779 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว 10,004 ไร่  คิดเป็นร้อยละ 3 เนื้อที่ให้ผล 248,200 ไร่ ลดลง 11,343 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 4 และผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 1,244 กิโลกรัม  ลดลง 82 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 6 ทำให้มีปริมาณผลผลิตโดยรวม 308,801 ตัน ลดลง 35,288 ตัน คิดเป็นร้อยละ 10  โดยผลผลิตทุเรียนลดลงเนื่องจากผลผลิตต่อไร่ลดลงค่อนข้างมาก จากสภาพอากาศมีฝนตกหลงฤดูในช่วงปลาย ธ.ค. – ม.ค.และปลาย ก.พ. ทำให้ต้นทุเรียนแตกใบอ่อน ดอกร่วง สลัดลูกทิ้ง ค่อนข้างมาก รวมทั้งเนื้อที่ให้ผลลดลงอย่างต่อเนื่องจากการโค่นทิ้งเพราะต้นทุเรียนเป็นโรคโคนเน่า ต้นแก่แห้งและด้วงเจาะต้น ทั้งนี้ ราคาทุเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องมา 3-4 ปี ทำให้เกษตรกรสนใจดูแลรักษาและเริ่มหันมาปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นแต่อัตราการรอดของต้นทุเรียนปลูกใหม่ค่อนข้างน้อยเพราะเชื้อโรคที่อยู่ในดินของพื้นที่สวนเดิมและศัตรูพืชรบกวนส่งผลให้เนื้อที่ยืนต้นลดลงด้วยเช่นกัน สำหรับการกระจายตัวของผลผลิตทุเรียนที่จะออกสู่ตลาด เริ่มตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม โดยจะออกกระจุกตัวสูงสุดช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2555 ประมาณร้อยละ 44 ของผลผลิตทุเรียนโดยรวมหรือประมาณ 1.36 แสนตัน

มังคุด สถานการณ์การผลิตมังคุดของ 3 จังหวัดภาคตะวันออกปี 2555 มีเนื้อที่ยืนต้น 208,085 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1,133 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 1 เนื้อที่ให้ผล 175,193 ไร่ เพิ่มขึ้น 13,026 ไร่  คิดเป็นร้อยละ 8 ส่วนผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 578 กิโลกรัม ลดลง 107 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 16 มีปริมาณผลผลิตโดยรวม 101,327 ตัน ลดลง 9,795 ตัน คิดเป็นร้อยละ 9โดยผลผลิตมังคุดลดลง เนื่องจากผลผลิตต่อไร่ลดลงมากหรือต่ำสุดในรอบ 5 ปี สาเหตุมาจากปีที่ผ่านมา มังคุดออกผลล่าช้าทำให้ระยะเวลาการพักสะสมอาหารสั้นลง และในช่วง ม.ค. – ก.พ. มีฝนตกทำให้ต้นมังคุดแตกใบอ่อน ไม่แทงช่อดอก ถึงแม้จะมีฝนตก แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ความชื้นของอากาศเหมาะสมกับมังคุด  รวมทั้งสภาพสวนมังคุดมีต้นยางพาราแซมค่อนข้างมากหรือบางส่วนแซมด้วยต้นขนุน  เมื่อต้นยางพาราโตขึ้นคลุมต้นมังคุดส่งผลให้มังคุดสังเคราะห์แสงได้ลดลง           

แต่แนวโน้มพื้นที่มังคุดจะไม่ปลูกเพิ่มจะเห็นได้จากเนื้อที่ยืนต้นปีนี้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาเพราะราคาไม่จูงใจและไม่คุ้มกับค่าจ้างแรงงานเก็บผล  ประกอบกับจะต้องโค่นทิ้งหรือตัดแต่งกิ่งเพราะทรงพุ่มมังคุดชนกันต้นยางพาราอาจทำให้เนื้อที่ยืนต้นขยายตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง  สำหรับการกระจายตัวของผลผลิตมังคุดที่จะออกสู่ตลาด เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม โดยจะออกกระจุกตัวช่วงต้นเดือนพฤษภาคม  2555 ประมาณร้อยละ 22 ของผลผลิตมังคุดโดยรวมหรือประมาณ 22,000 ตัน

โดย เงาะ  สถานการณ์การผลิตเงาะของ 3 จังหวัดภาคตะวันออกปี 2555 พบว่า มีเนื้อที่ยืนต้น 163,358 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว 10,218 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 6 เนื้อที่ให้ผล 157,516 ไร่ ลดลง 9,571 ไร่คิดเป็นร้อยละ 6 และผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 1,547 กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 125 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 9 ทำให้มีปริมาณผลผลิตโดยรวม 243,647 ตัน เพิ่มขึ้น 6,055 ตัน คิดเป็นร้อยละ 3  สำหรับผลผลิตเงาะนั้นเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการมีฝนตกตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม จึงทำให้เงาะออกดอกพร้อมกัน โดยเงาะรุ่นหลังนี้จะออกสู่ตลาดพร้อมกันในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนมิถุนายน จึงอาจเกิดปัญหาราคาตกต่ำ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเนื้อที่ให้ผลจะลดลงจากการโค่นทิ้งเพราะเกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น เช่น ยางพารา ขนุน ลำไย กล้วยไข่ เป็นต้น

แต่ปริมาณการโค่นมีทิศทางที่ชะลอตัวแล้ว เพราะปีที่ผ่านมาเงาะทยอยออกหลายรุ่นทำให้ลดปัญหาการกระจุกตัวในตลาดส่งผลให้ราคาเงาะปีที่ผ่านมาไม่ตกต่ำ  ประกอบกับเกษตรกรหันมาปรับเปลี่ยนยอดพันธุ์จากพันธุ์สีชมพูเป็นพันธุ์โรงเรียนมากขึ้น รวมทั้งตัดแต่งกิ่งเงาะ (ทำสาว) ให้เงาะแตกกิ่งใหม่เพื่อสะดวกในการเก็บผลผลิต ทั้งนี้ การกระจายตัวของผลผลิตเงาะที่จะออกสู่ตลาด เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงสิงหาคม โดยจะออกกระจุกตัวช่วงเดือนกลางมิถุนายน 2555 ประมาณร้อยละ 24 ของผลผลิตเงาะโดยรวมหรือประมาณ 58,000 ตัน

ลองกอง   สถานการณ์การผลิตลองกองของ 3 จังหวัดภาคตะวันออกปี 2555 มีเนื้อที่ยืนต้น 116,201 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว 5,961 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 5  เนื้อที่ให้ผล 99,865 ไร่ ลดลง 1,018 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 1 ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 562 กิโลกรัม ลดลง 93 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 14 ทำให้มีปริมาณผลผลิตโดยรวม 56,133 ตัน ลดลง 9,921 ตัน คิดเป็นร้อยละ 15  โดยผลผลิตลองกอง พบว่า ลดลงค่อนข้างมากเนื่องจากผลผลิตต่อไร่ลดลงมากที่สุดในรอบ 5 ปี เช่นเดียวกับมังคุด สาเหตุจากปีที่ผ่านมาลองกองแทงช่อดอกช้ากว่าปีปกติมาก ทำให้ระยะพักต้นเพื่อสะสมอาหารสั้นลงทำให้ความสมบูรณ์ของต้นลดลง รวมทั้งเนื้อที่ให้ผลลดลงอีกเล็กน้อยด้วย และลองกองที่ปลูกในสวนผสมจะทำการควบคุมการให้น้ำยากทำให้เกษตรกรดูแลรักษาลดลงและเริ่มมีการโค่นลองกองมากกว่าการปลูกใหม่ส่งผลให้เนื้อที่ยืนต้นลดลงอย่างต่อเนื่อง  สำหรับการกระจายตัวของผลผลิตลองกองที่จะออกสู่ตลาด เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงสิงหาคม โดยจะออกกระจุกตัวช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2555 ประมาณร้อยละ 25 ของผลผลิตลองกองโดยรวมหรือประมาณ 14,000 ตัน

ทั้งนี้ การบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออกปี 2555 ได้เตรียมการความร่วมมือโดยหน่วยงานในระดับพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนและป้องกันความสูญเสียของผลผลิตจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ  สร้างโอกาสเข้าถึงระบบตลาด และหาลู่ทางรักษาเสถียรภาพด้านราคา เน้นใช้กลไกขององค์กรเกษตรกร เช่น สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชนและกลุ่มเกษตรกรดำเนินการรวบรวมผลผลิต/แปรรูป และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สนับสนุนการตลาดโดยเน้นให้เกษตรจังหวัดเป็นหน่วยงานหลักบริหารจัดการในระดับพื้นที่ ด้วยกลยุทธ์เชิงระบบ 9 มาตรการความร่วมมือ ได้แก่ มาตรการประเมินผลผลิตรายอำเภอ มาตรการด้านเฝ้าระวังมาตรฐานผลผลิต มาตรการด้านทุนสำรอง  มาตรการด้านแรงงาน มาตรการการขนส่งผลผลิต มาตรการด้านการตลาด  มาตรการป้องปรามการปลอมปน/จำหน่ายสินค้าไม่มีคุณภาพ มาตรการประชาสัมพันธ์ และมาตรการส่งเสริมการส่งออก       


ข่าวที่เกี่ยวข้อง