สมัชชาปฏิรูปฯ มีมติคุ้มครองแรงงาน รับค่าจ้างเป็นธรรม ดันเกษตรกรรมยั่งยืนใน 3 ปี
ที่ประชุมมีมติรับรองใน 6 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การปฏิรูประบบแรงงานและสวัสดิการ: การเพิ่มอำนาจต่อรองของแรงงานการปรับโครงสร้างค่าจ้าง การเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพและการคุ้มครองแรงงานการเพิ่มอำนาจในการต่อรองของแรงงาน โดยสาระสำคัญคือให้กระทรวงแรงงานยกเลิกระเบียบเก่า และออกระเบียบใหม่ ที่ให้แรงงานทุกคนออกเสียงได้ 1 คน 1 เสียง ตามรัฐธรรมนูญ และให้สิทธิลูกจ้างที่ทำงานในพื้นที่ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปให้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตพื้นที่นั้นๆ แก้ไขนิยามค่าจ้างขั้นต่ำให้แรงงานได้ค่าจ้างที่เป็นธรรม พอเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัวได้อีก 2 คน รวมทั้งรัฐบาลต้องสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารแรงงาน หรือกองทุนเงินของแรงงาน
ประเด็นที่ 2 การปฏิรูประบบเกษตรกรรม: เพื่อความเป็นธรรมและความมั่งคงทางอาหาร โดยสาระสำคัญ คือ ให้เกษตรกรรมยั่งยืนเป็นวาระแห่งชาติและขับเคลื่อนให้เกิดผลภายใน 3 ปี เพื่อการรับมือกับวิกฤติความมันคงทางอาหารและพลังงาน คณะกรรมการบริหารการประกันราคาผลผลิต ต้องมาจากเกษตรกรร้อยละ 60 ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร้อยละ 40 สนับสนุนทุนการศึกษา ที่เกี่ยวกับเกษตรกรรมยั่งยืนแบบเรียนฟรี โดยให้ศึกษาได้ทั้งในและต่างประเทศ แต่มีข้อแม้ว่า ต้องมาทำงานในท้องถิ่นของตัวเอง และยกเว้นภาษีเกษตรกรรุ่นใหม่ภายใน 7 ปี
ประเด็นที่ 3 การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ สู่การปรับดุลอำนาจที่เหมาะสมระหว่างรัฐบาลกับชุมชนท้องถิ่น โดยมีสาระสำคัญคือ ให้มีการออกกฏระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการโครงการนำร่อง เรื่องพัฒนาการระบบ ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม
เสนอคณะรัฐมนตรีจัดตั้งองค์กรอิสระ เพื่อจัดทำร่างกฎหมายระหว่าง ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น และผลักดันมติสมัชชาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูปให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี
ประเด็นที่ 4 การปฏิรูประบบการเมือง:การพัฒนาความเข้มแข็ง ของพลเมืองเพื่อปฏิรูปประเทศไทย โดยมีสาระสำคัญคือ ถ่ายโอนอำนาจรัฐ จากส่วนกลางไปยังท้องถิ่นให้เกิดผลอย่างแท้จริง รวมถึง ปฏิรูปกฎหมายทั้งหมด เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม และมีอำนาจในการตัดสินใจในกระบวนการนโยบายสาธารณะทุกระดับ
ประเด็นที่ 5 การปฏิรูปโครงสร้างและกฏหมายด้านที่ดิน โดยมีสาระสำคัญคือ ให้มีกฎหมายคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม โดยกำหนดมาตรการช่วยเหลือ และจูงใจให้เจ้าของที่ดิน รักษาที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไว้ รวมทั้งเร่งรัดการดำเนินการตามมติสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 1 เรื่องการจัดสรรทรัพยากรที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยให้มีการออกมาตรการตรวจสอบการถือครองที่ดินของชาวไทย และชาวต่างชาติ ที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมายคุ้มครองที่ดินเพื่อการเกษตร และห้ามคนต่างชาติถือครองที่ดินทางการเกษตร โดยผ่านตัวแทนชาวไทย หรือ นอมีนี โดยเด็ดขาด
สุดท้ายประเด็นที่ 6 การปฏิรูปการศึกษา:ปรับทิศทางการศึกษาเพื่อสร้างคุณภาพและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยมีสาระสำคัญ คือ เพิ่มบทบาทและอำนาจของภาคชุมชนท้องถิ่นให้เป็นไปตามกลไกที่มีบทบาทในการปฏิรูปการศึกษา และปรับปรุงมาตราการการคลัง และวิธีจัดสรรงบประมาณไปสู่ฐานชุมชนท้องถิ่นตามตัวผู้เรียน
ก่อนการลงมติ ได้มีองค์กรเครือข่ายในแต่ละจังหวัดได้ขอบันทึกความเห็นเพิ่มเติม อาทิ การปฏิรูปการเมือง ที่ต้องการให้ทบทวนการดำรงตำแหน่งผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ รวมทั้งปรับแก้กฎหมายว่าด้วยเรื่องการเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้อยู่ในวาระ 4 ปี พร้อมกันนี้ หากพบว่าฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ มีพฤติกรรมขัดรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ให้ใช้อำนาจจากประชาชนได้ เช่น การถอดถอนฝ่ายนิติบัญญัติ ด้วยคะแนน 3 ใน 4 ของคะแนนเสียงที่ตนได้รับเลือกโดยไม่ต้องผ่านสภา หรือไม่ให้เอกสิทธิ์คุ้มครอง ส.ส.ที่กระทำความผิด