นักวิชาการวิเคราะห์เหตุแผ่นดินไหวในเนปาล
นายไพบูลย์ นวลนิล อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่ประเทศเนปาลว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเป็นแนวมุดตัวระหว่างแผ่นอินเดียกับแผ่นยูเรเซีย โดยแผ่นอินเดียมุดลงไปใต้แผ่นดินยูเรเซีย ซึ่งเป็นแนวมุดตัวที่ใหญ่และยาวทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ซึ่งการไหวที่รุนแรงเป็นเพราะการสะสมพลังงานมาเป็นเวลานาน
โดยการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ต้องใช้เวลาสะสมพลังงานนาน 70 - 80 ปี โดยในรอบปีทั่วโลกจะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 ขึ้นไปอยู่ที่ 12-15 ครั้งต่อปี ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2558 ถึงขณะนี้มีแผ่นดินไหวขนาด 7 ขึ้นไป เกิดขึ้นไปแล้ว 4 ครั้ง แต่จากนี้ไปไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าแผ่นดินไหวขนาด 7 ขึ้นไปจะเกิดขึ้นสถานที่ใดและเวลาใดอีก อย่างไรก็ตามภายหลังเกิดเมนช็อค ก็ได้เกิดอาฟเตอร์ช็อคขนาดสูงสุดที่ 6.7 และมีอาฟเตอร์ช็อคเกิดขึ้นอีกประมาณ 30 ครั้ง จากนั้นก็มีขนาดเล็กและมีความถี่น้อยลงเรื่อยๆ
ด้าน รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ถึงแม้เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศเนปาลจะมีจุดศูนย์กลางห่างจากประเทศไทย แต่เกรงว่าลักษณะรอยเลื่อนของเนปาลอาจส่งผลกระทบกับพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้คาดว่าจะยังไม่มีผลกระทบกับไทย
ศ.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ภาคธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นในเนปาล ค่อนข้างรุนแรงเป็นเพราะเกิดแผ่นดินไหวในระดับที่ตื้นมาก 15 กม.และมีขนาดความรุนแรง 7.8 โดยก่อนหน้านี้เมื่อ 81 ปีก่อน ก็เคยเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรง 8.1 และสร้างความเสียหายอย่างหนักมาแล้ว
ส่วนการขยับตัวของเปลือกโลกที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวในเนปาลครั้งนี้ ไม่น่าจะส่งผลกระทบรอยเลื่อนในไทย แต่น่าจะส่งผลกระทบกับรอยเลื่อนเสฉวนและรอยเลื่อนในพม่ามากกว่า ขณะที่มองว่าประเทศเนปาลน่าจะมีระบบการรับมือกับภัยพิบัติได้ดี เนื่องจาก ประเทศเนปาลอยู่ในพื้นที่ที่ประสบเหตุแผ่นดินไหวขึ้นบ่อยครั้ง แต่อย่างไรก็ตามประเทศเนปาลไม่ได้เป็นประเทศร่ำรวย ก็อาจจะประสบปัญหาการช่วยเหลือประชาชน
ด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักเขียนและอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงเหตุแผ่นดินไหวในเนปาลที่มีความเสียหายรุนแรงมากว่า เนื่องจากเนปาลเป็นพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้งอยู่แล้วและประเทศเนปาลก็อยู่ตรงบริเวณรอยที่แผ่นดิน 2 แห่งชนกัน ซึ่งเมื่อ 80 ปีก่อนก็เกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขึ้นมาแล้ว ขณะที่บ้านเรือนส่วนใหญ่ก่อด้วยอิฐไม่ได้มีการฉาบปูนและมีการสร้างกันอย่างแออัด หนาแน่น ส่วนโบราณสถานหลายแห่งมีอายุหลายร้อยปีและเมื่อเกิดอาฟเตอร์ช็อคตามมาอีกจึงทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น
ขณะที่นายบุรินทร์ เวชบรรเทิง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ยืนยันว่า แผ่นดินไหวใหญ่ที่ประเทศเนปาลจะไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทย เพราะระยะทางไกลกันมาก พร้อมระบุว่าเนปาลมีโอกาสเกิดอาฟเตอร์ช็อกขนาด 6.5-7 ภายใน 2-3 เดือนนี้