วันนี้ (3 ก.พ.) นายสมบัติ ลีลาพตะ รักษาการรองเลขาธิการ กสทช. ระบุว่า วันนี้ เป็นวันสุดท้าย ที่กสทช. กำหนดให้ บริษัท ไทยทีวี ต้องจ่ายเงินค่าประมูลที่ยัง ไม่ได้จ่ายอีก 5 งวด จำนวน 1,634.4 ล้านบาท พร้อมค่าปรับวันละ 60,000 บาท (จากการจ่ายค่างวดประมูลล่าช้า) หากต้องการยกเลิกประกอบกิจการทำทีวีดิจิทัล 2 ช่อง แต่หากไม่สามารถจ่ายได้ กสทช.ก็จะแจ้งต่อธนาคารกรุงเทพ ตามขั้นตอนเพื่อขอยึดหลักทรัพย์ค้ำประกัน และ เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ
โดยสำนักงาน กสทช.ไม่อนุญาตให้ช่องไทยทีวี ออกอากาศตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2558 ตามคำสั่ง “พักใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการ” เนื่องจากบริษัท ไม่ได้จ่ายค่าประมูลงวดที่สอง จำนวน 288 ล้านบาท ซึ่งเลยระยะเวลาที่กำหนดต้องจ่ายตั้งแต่กลางปีที่แล้ว โดยไทยทีวี เป็นบริษัทที่ชนะประมูลทีวีดิจิทัล จำนวน 2 ช่อง จากทั้งหมด 24 ช่อง ประกอบกิจการ ช่อง “โลก้า” และ “ช่อง ไทยทีวี”
ทั้งสองช่อง เริ่มออกอากาศได้เพียงปีเศษ ไทยทีวี แจ้งถึง กสทช.เมื่อกลางปีที่แล้วว่า ต้องการส่งคืนใบอนุญาตประกอบกิจการ เพราะขาดทุน จากแผนงานการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัลทั้ง 24 ช่อง ที่ไม่เป็นไปตามแผนงานของ กสทช. และยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง
หนึ่งในเงื่อนไขที่จะยกเลิกประกอบกิจการได้ คือ ต้องจ่ายประมูลให้ครบ ซึ่งขณะนี้ ไทยทีวี ยังไม่ได้จ่ายอีก 5 งวด เป็นเงินกว่า 1,600 ล้านบาท และหากไม่จ่ายภายในวันนี้ สำนักงานกสทช. จะเสนอคณะกรรมการ เพิ่มโทษทางปกครองจากการ “พักใช้ใบอนุญาต” อยู่ในปัจจุบัน เป็นขั้นสุงสุด คือ "เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ" รวมทั้งจะแจ้งธนาคารกรุงเทพ ในฐานะผู้ค้ำประกัน ว่า กสทช.ขอยึดหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือ แบงค์การันตี ที่บริษัททำไว้กับธนาคารภายใน 30 วัน และแจ้งต่อสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในฐานะผู้ให้บริการโครงข่ายให้ยุติการเผยแพร่สัญญาณภาพของทั้ง 2 ช่อง
นายสุชาติ ชมกุล ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย บริษัท ไทยทีวี ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขอให้ กสทช.ชดเชยค่าเสียหาย 1 ล้านบาท จากมติพักใช้ใบอนุญาต ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้บริษัทเสียหายจากการหยุดออกอากาศ พร้อมยืนยันว่า ไทยทีวีไม่ต้องการประกอบกิจการ ทั้งสองช่องอีกต่อไป แต่จะเน้นผลิตรรายการให้สถานีโทรทัศน์ช่องอื่นแทน พร้อมยืนยันว่า วันนี้ บริษัมไม่ได้เดินทางไปศาลปกครองเพื่อยื่นฟ้องแต่อย่างใด และยืนยันว่าบริษัทจะขอใช้สิทธิ์สู้คดีตามกฎหมาย
บริษัทไทยทีวี เป็นหนึ่งในบริษัทที่ชนะการประมูลทีวีดิจิทัลใน 24 ช่อง มีนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประกอบกิจการ 2 ช่อง ได้แก่ "โลก้า" เป็นประเภททีวีช่องรายการเด็ก เยาวชน และครอบครัว ส่วนไทยทีวีเป็นประเภทกลุ่มช่องข่าว ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. เป็นประเภทใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2559 - 24 เมษายน 2572 รวมระยะเวลา 15 ปี โดยเช่าสัญญาณโครงข่ายสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ออกอากาศ ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557