คนไทยเตรียมจ่ายหนักค่าไฟ หลังกฟผ.เลิกตรึงราคา
ต้นทุนก๊าซธรรมชาติสำหรับผลิตไฟฟ้า มีแนวโน้มสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยราคาก๊าซที่นำมาคำนวณค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ เอฟที งวดที่ 1 เดือนมกราคม - เมษายน เฉลี่ยอยู่ที่ 280 บาทต่อล้านบีทียู จากฐานปีก่อนที่ 260 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งงวดที่ 2 และ 3 ของปีนี้จะปรับขึ้นเป็น 300 บาทและ 320 บาทต่อล้านบีทียู
ขณะที่ นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในงวด 1 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ เรกูเลเตอร์ ตัดสินใจตรึงค่าเอฟที เพื่อลดภาระประชาชนในภาวะน้ำท่วม แต่ทำให้กฟผ.มีภาระ 8,000 ล้านบาทและไม่สามารถรับภาระเพิ่มได้อีก เพราะต้องลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าและสายส่ง รวมถึงเตรียมความพร้อมหากเกิดสงคราม ที่อาจจะทำให้น้ำมันมีราคาสูงขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 35 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนการหยุดจ่ายก๊าซของพม่ามายังไทยในวันที่8-17เมษายน ภาครัฐและเอกชนควรช่วยกันลดการใช้พลังงานเพื่อลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้า
ขณะที่กระทรวงพลังงานได้จัดตั้งคณะทำงานพิจารณายกร่างกฎหมายกองทุนสำรองน้ำมันแห่งชาติ พร้อมเตรียมจ้างสถาบันการศึกษามาศึกษาความเป็นไปของโครงการ โดยนายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะทำงานฯ กล่าวว่า กองทุนฯที่อาจตั้งขึ้นใหม่ จะทำหน้าที่บริหารจัดการสต็อกน้ำมันดิบหรือน้ำมันสำเร็จรูป ที่จะสำรองเพิ่มขึ้นจาก 60 วันเป็น 90 วัน โดยหากราคาน้ำมันแพงเกินไป จะเป็นกลไกปล่อยน้ำมันสู่ตลาด หรืออุดหนุนราคาให้ถูกลง ทั้งนี้ อาจใช้วิธีเก็บเงินจากน้ำมันขายปลีก เช่นเดียวกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง