วันนี้ (3 ก.พ.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ สภ.เมืองกระบี่ สาขาย่อยเกาะพีพี จ.กระบี่ ได้รับแจ้งอุบัติเหตุเรือสปีดโบ๊ตชื่อ "ซันซาน 2" ชนครูสอนดำน้ำและนักท่องเที่ยวที่เรียนดำน้ำชาวรัสเซียบาดเจ็บสาหัส 2 คน โดยถูกใบพัดเรือฟันที่ขาขวาบริเวณปากอ่าวมาหยา ระหว่างเกาะพีพีเลและเกาะพีพีดอน ต.อ่างนาง อ.เมืองกระบี่ เหตุเกิดช่วงบ่ายวันนี้ โดยกัปตันเรือให้การว่าชาวต่างชาติทั้ง 2 คนดำน้ำอยู่ในบริเวณเส้นทางเดินเรือ
เหตุเรือชนนักท่องเที่ยวหรือชนกันเองในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล จ.กระบี่ นั้นเกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง เช่น
28 ม.ค.2559 เรือสปีดโบ๊ตเฉี่ยวชนกันเองบริเวณหัวแหลม เกาะพีพีเล จ.กระบี่ เป็นเหตุในนักท่องเที่ยวชาวจีนบาดเจ็บ 5 คน อาการสาหัส 1 คน
5 ม.ค.2559 เรือสปีดโบ๊ตชนนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสเสียชีวิต 1 คน ขณะดำน้ำแบบสน็อกเกิลบริเวณเกาะปอดะ ต.อ่าวนาง จ.กระบี่
15 ก.พ.2558 เรือสปีดโบ๊ตขับพานักท่องเที่ยวไปจากอ่าวนางไปดูทะเลแหวก ชนชาวบ้านที่ดำน้ำหาปลาจนบาดเจ็บสาหัส คนขับเรืออ้างว่าบุคคลดังกล่าวดำน้ำหาปลาอยู่ในเส้นทางเดินเรือ
19 ต.ค.2557 เรือสปีดโบ๊ตบรรทุกนักท่องเที่ยว 42 คน ชนเรืออวนลากกลางทะเลใกล้เกาะยาวใหญ่ ทำให้นักท่องเที่ยวสูญหาย 2 คนและบาดเจ็บอีกหลายคน
นอกจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับเรือสปีดโบ๊ตแล้ว ยังมีอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับเรือบรรทุกนักท่องเที่ยวอีกด้วย เช่น
11 พ.ย.2558 เกิดเหตุเรือบรรทุกนักท่องเที่ยวชาวจีนประสบเหตุชนหินโสโครกบริเวณเกาะไก่ นักท่องเที่ยวชาวจีนทั้ง 8 คน ปลอดภัย
8 เม.ย.2558 เรือท่องเที่ยวที่บรรทุกผู้โดยสาร 115 คน มุ่งหน้าจากอ่าวนาง จ.กระบี่ ไปยัง จ.ภูเก็ต เกิดไฟไหม้และอับปางในทะเล ทำให้เด็กหญิงชาวอิสราเอลเสียชีวิต 1 คน
จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง อุทยานแห่งชาตินพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขากระบี่ และตำรวจน้ำได้วางทุ่นแนวกันเขตหรือ "ทุ่นไข่ปลา" เพื่อแสดงพื้นที่ที่อนุญาตให้เล่นน้ำ โดยเฉพาะที่เกาะปอดะ ทะเลแหวก และอ่าวมาหยา หมู่เกาะพีพี พร้อมกับประกาศควบคุมความเร็วเรือไม่ให้เกิน 5 น็อต ขณะเดินเรือเข้าฝั่งในระยะ 200 เมตร เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว
ด้าน ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลให้ความเห็นว่า มาตรการและกฎหมายที่มีอยู่มากมายมานานกว่า 30 ปี ไม่สามารถนำมาบังคับใช้หรือป้องกันอุบัติเหตุเหล่านี้ได้ เช่น การกำหนดให้ผู้ประกอบการนำเรือมาขึ้นทะเบียนเพื่อเข้าสู่ระบบการตรวจสอบ การอบรมด้านความปลอดภัย และเพื่อให้ง่ายต่อการติดตามเมื่อเกิดเหตุ ทั้งนี้ผู้ประกอบการจะเสียค่าขึ้นทะเบียนเพียงปีละ 1,000 กว่าบาท
"การนำเรือมาขึ้นทะเบียนเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทาง เพราะทางผู้ประกอบการจะได้รับทราบถึงวิธีการประกอบกิจการอย่างถูกกฎหมาย อีกทั้งการขึ้นทะเบียนยังครอบคลุมถึงการทำประกันภัยต่างๆ และการติดตามเอาผิดหากเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวหรือผู้ใช้บริการได้อีกด้วย" นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล ระบุ
ผศ.ธรณ์กล่าวว่าปัจจุบันนี้มีเรือมากกว่า 100 ลำ ที่ขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังเป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนเรือทั้งหมด จึงอยากเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติเลือกใช้บริการเรือที่ขึ้นทะเบียนแล้วเท่านั้น โดยสังเกตได้ที่สติกเกอร์ที่ระบุว่าเป็นเรือที่ขึ้นทะเบียนแล้ว เพราะปัจจุบันนี้มีนักลงทุนชาวจีนซื้อเรือไทยไปทำธุรกิจกว่า 100 ลำ และติดชื่อเป็นภาษาจีน ยากต่อการจดจำหรือติดตามเมื่อกระทำผิด
นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติทางทะเลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดหาทุ่นแนวกันเขตหรือแนวไข่ปลามากั้นบริเวณแหล่งดำน้ำหรือเล่นน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุเรือชนนักท่องเที่ยว เนื่องจากจำนวนเรือในทะเลกระบี่มีมากกว่า 1,000 ลำ เป็นเรื่องยากที่จะจัดเป็นระเบียบได้ในระยะเวลาอันสั้น
ทุ่นแนวกันเขตหรือทุ่นไข่ปลา
ผศ.ธรณ์ยังเสนอให้ยกระดับระบบเวชศาสตร์ทางทะเลให้เป็นสากล โดยกรมการแพทย์ทหารเรือและกระทรวงสาธารณสุขควรเร่งพัฒนาองค์ความรู้และเครื่องมือ เพื่อให้การกู้ภัยทางทะเลมีประสิทธิภาพมากขึ้น
"อย่างที่ทราบกันดีว่า แม้จะมีแผนมีวิธีการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหา แต่ก็ยังติดขัดในข้อระเบียบราชการและงบประมาณ ดังนั้น นอกจากกรมอุทยานแล้ว อยากให้ภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและจังหวัดเข้ามาช่วยเหลือเกิดการผลโดยเร็ว เพราะหากเน้นแต่การรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวทะเลไทย แต่ไม่มีความปลอดภัย ความหวังที่จะนำเม็ดเงินเข้าประเทศก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย" ผศ.ธรณ์กล่าว