วันที่ (4 ก.พ. 2559) พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) พร้อมด้วยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. และนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. ร่วมแถลงยืนยันวานนี้ (3 ก.พ.) ว่า บริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น และ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ พร้อมจะชำระค่าประมูล 4 จี คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ แน่นอน หลังจากมีกระแสข่าวว่าบางบริษัทไม่สามารถหาเงินชำระค่าประมูลได้
ขณะที่สำนักงาน กสทช. มีแผนสำรองพร้อมจัดประมูลใหม่ทันที 3 เดือน แม้จะมั่นใจว่า ทั้ง “ทรูฯ-แจส” จะจ่ายเงินประมูลได้ทันตามกรอบที่วางไว้ ซึ่งหากพบว่ามีการทิ้งใบอนุญาตแต่ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขประมูล เฉพาะราคาตั้งต้นโดยเสนอกรรมการกสทช.รับทราบแล้ว และหากรายใดทิ้งใบอนุญาต จะต้องชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นในกระบวนการจัดประมูลทั้งหมดตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขการประมูลของ กสทช. และจะมีผลต่อการถูกพิจารณาขึ้นบัญชีดำ หรือ แบล็กลิสต์ การถือครองใบอนุญาตโทรคมนาคมประเภทอื่นด้วย
อย่างไรก็ตาม กสทช. และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมหารือ ถึงแนวทางแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล ขณะนี้ว่าการออกอากาศของทีวีดิจิทัล 24 ช่อง เข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว แต่พบว่าผู้ประกอบการกิจการหลายรายสุ่มเสี่ยงต่อภาวะขาดทุนทำให้ประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงกันก็คือ การเปิดทางให้คืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลหากรายใดไปต่อไม่ไหวและไม่ควรนำคลื่นความถี่กลับมาประมูลอีกเนื่องจากมองว่ามีใบอนุญาตจำนวนมากเกินไป ก่อนหน้านี้ผู้บริหารช่อง 9 และสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ เห็นว่าข้อเสนอต่างๆ หลายประเด็น หากทำให้ลดต้นทุนผู้ประกอบการได้จะเป็นผลดีแต่หากฝืนทำต่อไปผู้ประกอบการบางรายอาจเกิดผลกระทบ
ทั้งนี้ขั้นตอนการแก้ปัญหาทีวีดิจิทัลหลังจากนี้จะนำเสนอแนวทางที่คณะทำงานเสนอ รวมทั้งประเด็นการคืนใบอนุญาตให้ คณะกรรมการ กสทช. พิจารณาในวันที่ 10 ก.พ. เนื่องจากวันนี้(4 ก.พ.) ตัวแทนคณะกรรมการกฤษฏีกา เห็นว่าหากต้องการทิ้งใบอนุญาต กสทช.ก็ควรเก็บค่างวดประมูลที่เหลืออีก 4 งวดให้ครบเพราะเป็นรายได้ของแผ่นดิน แต่หากมาตรการนี้ไม่ได้รับการพิจารณา กสทช.ก็จะต้องหามาตรการช่วยผู้ประกอบการ พร้อมทำแผนงานประมวลเสนอรายงานต่อนายกรัฐมนตรีให้พิจารณา
ส่วนกรณีสถานีโทรทัศน์ช่องไทยทีวี ที่ถูกระงับออกอากาศต่อเนื่องจากกว่า 3 เดือนแล้ว จากคำสั่ง "พักใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการ"ของกสทช. ซึ่งเมื่อวานนี้ (3 ก.พ.) ถือเป็นวันที่สิ้นสุดคำสั่งแล้ว โดยสัปดาห์หน้า คณะกรรมการกสทช. จะประชุมร่วมกัน เพื่อพิจารณาแนวทางเพิกถอนใบอนุญาต และ ขอให้ธนาคารส่งมอบหลักทรัพย์ค้ำประกันของบริษัท กว่า 1,600 ล้านบาท ให้กสทช.