ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ความเป็น"สื่อสาธารณะ"ระดับภูมิภาค กรณีศึกษา บีบีซีไอร์แลนด์เหนือ และ ไทยพีบีเอส

7 เม.ย. 55
10:25
111
Logo Thai PBS
ความเป็น"สื่อสาธารณะ"ระดับภูมิภาค กรณีศึกษา บีบีซีไอร์แลนด์เหนือ และ ไทยพีบีเอส

โดย อัจฉราวดี บัวคลี่

ดิฉันมีโอกาสร่วมเดินทางไปกับคณะกรรมการนโยบาย ThaiPBS  ศึกษาดูงานที่ประเทศอังกฤษระหว่างวันที่ 25 ก.พ.-3 มี.ค.2555  ในหลายประเด็น  ซึ่งจะได้ทะยอยนำประสบการณ์ที่ได้และคิดว่ามีแง่มุมสาธารณะเผยแพร่แลกเปลี่ยนกับท่านที่สนใจผ่านพื้นที่แห่งนี้ 
                   
ที่เมืองเบลฟาสท์ แคว้นไอร์แลนด์เหนือ ภารกิจสำคัญของการเรียนรู้คือการได้แลกเปลี่ยนบทบาทสื่อสาธารณะในสถานการณ์ความขัดแย้งและการทำงานของภาคประชาชนเพื่อร่วมสร้างกระบวนการสันติภาพในพื้นที่     อย่างไรก็ตามบทความนี้ ดิฉันขอให้น้ำหนักกับเนื้อหาคือ "ความเป็นสื่อสาธารณะระดับภูมิภาคของบีบีซีไอร์แลนด์เหนือ (BBC NI)" และบทความอีกชิ้นที่จะเขียนต่อเนื่อง คือการทำหน้าที่สิ่อขอบีบีซีไอร์แลนด์เหนือในสถานการณ์ความขัดแย้ง                   
                                                                               
ปีนี้ บีบีซี ที่กรุงลอนดอน มีอายุครบ 85 ปี หากจะนับแต่การเริ่มก่อตั้งในปี 1927  อย่างเป็นทางการ  แต่ในหนังสือประวัติการก่อตั้ง บีบีซีไอร์แลนด์เหนือ (BBC NI) ระบุถึงการเกิดการสื่อสารเล็กๆ ในพื้นที่แห่งนี้ไว้ก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำคือปี 1924 จากสื่อในพื้นที่และพัฒนาเติบโตขึ้นมาร่วมกับ BBC ในปี 1927 จนถึงปัจจุบัน 
             
BBC NI มีบทบาทเป็นสถานีกระจายเสียงระดับภูมิภาคเช่นเดียวกับ สกอตแลนด์ และเวลล์  มีพื้นที่ของการเป็นสื่อสาธารณะทั้งโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อใหม่  มีโครงสร้างบริหารจัดการในพื้นที่เองแต่เชื่อมโยงกับกรุงลอนดอน มีสภาผู้ชมผู้ฟัง และมีการทำงานร่วมกับประชาชน   

การกระจายเสียงเริ่มต้นจากสื่อวิทยุในปี 1936  ต่อมาได้ก่อสร้างอาคารสถานีระดับภูมิภาคในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2   และแพร่ภาพโทรทัศน์ในปี 1953  ช่วงเริ่มต้นเน้นการทำงานด้านข่าว  และเมื่อมีคู่แข่งเป็นทีวีท้องถิ่นคือ  UTV (Ulster TV)   ทำให้ BBC NI ต้องปรับปรุงพัฒนาตนเอง มีการขยายตัวเพิ่มบทบาทเชิงรายการสู่สังคม  ให้บริการระดับท้องถิ่นอย่าจริงจัง เปิดสถานีวิทยุ BBC Radio Ulster และ BBC Radio Fayle ในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ และปรับตัวด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่สู่ดิจิตอล รวมถึงบทบาทการทำงานเชื่อมสื่อที่เน้น Future Media

บีบีซีไอร์แลนด์เหนือในฐานะเป็นสถานีในภูมิภาค สามารถ “บริหารจัดการ”ตนเองในระดับพื้นที่ได้แต่ก็เชื่อมประสานกับบีบีซีที่กรุงลอนดอนด้วย  ส่วนการนำเสนอเนื้อหามีความเชื่อมโยงในการจัดสรรเวลาของท้องถิ่นและเวลาของระดับชาติ       โครงสร้างการบริการงาน BBC NI มีคณะกรรมการบริหาร  โดยผู้อำนวยการ หัวหน้าสำนักต่างๆ ซึ่งเป็นพนักงานอาวุโสที่จะบริหารงานของ BBCNI โดยมีการรายงานผลการปฏิบัติงานต่อผู้อำนวยการและคณะกรรมการบริหาร BBC ที่กรุงลอนดอนด้วย  
                                   
จากเอกสาร “Northern Ireland Management review” ระบุโครงสร้างการจัดการใน BBC NI ว่าตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานี  หัวหน้าฝ่ายประสานงานและกิจการชุมชน  หัวหน้าแผนกรายการโทรทัศน์  หัวหน้าฝ่ายข่าว  หัวหน้าฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล  หัวหน้าฝ่ายวิทยุ  หัวหน้าฝ่ายมัลติมีเดีย หัวหน้าฝ่ายการตลาดการสื่อสารและผู้ชมผู้ฟัง  หัวหน้าฝ่ายโปรแกรม หัวหน้าฝ่ายจัดการ

ในส่วนที่ทำงานกับประชาชน มีกิจกรรมหลายลักษณะ เช่นการจัดนิทรรศการงานของบีบีซีที่ถ่ายทอดเรื่องราวของการทำสื่อที่เป็นส่วนหนึ่งของไอร์แลนด์เหนือ  และมีสภาผู้ชมของ BBC NI เองที่เริ่มต้นจากการจัดตั้ง Broadcasting Council ของท้องถิ่น ต่อมาซึ่งเปลี่ยนเป็น Audience Council  มีบทบาทติดตามการทำงานทั้งโทรทัศน์วิทยุและสื่อใหม่    ที่มาของสภาฯ มาจากกลุ่มบุคคลหลายภาคส่วน เช่น นักธุรกิจ  ศิลปิน กลุ่มการศึกษา ผ่านการเลือกตั้งและสัมภาษณ์  มีการพบปะเดือนละครั้ง สภาผู้ชม สามารถให้คำติชมและวิพากษ์วิจารณ์ สิ่งที่BBC นำเสนอ 
 
ในส่วนที่ทำงานกับประชาชน มีกิจกรรมหลายลักษณะ เช่นการจัดนิทรรศการงานของบีบีซีที่ถ่ายทอดเรื่องราวของการทำสื่อที่เป็นส่วนหนึ่งของไอร์แลนด์เหนือ  และมีสภาผู้ชมของ BBC NI เองที่เริ่มต้นจากการจัดตั้ง Broadcasting Council ของท้องถิ่น ต่อมาซึ่งเปลี่ยนเป็น Audience Council  มีบทบาทติดตามการทำงานทั้งโทรทัศน์วิทยุและสื่อใหม่    ที่มาของสภาฯ มาจากกลุ่มบุคคลหลายภาคส่วน เช่น นักธุรกิจ  ศิลปิน กลุ่มการศึกษา ผ่านการเลือกตั้งและสัมภาษณ์  มีการพบปะเดือนละครั้ง สภาผู้ชม สามารถให้คำติชมและวิพากษ์วิจารณ์ สิ่งที่BBC นำเสนอพัฒนาการสื่อสาธารณะระดับภูมิภาคของ BBC 
            
 กว่าที่สื่อสาธารณะระดับภูมิภาคของ BBC ในไอร์แลนด์เหนือจะสามารถบริหารจัดการสถานีตนเองได้    หากย้อนดูพัฒนาการความเป็นสถานีภูมิภาคของบีบีซีมีบทเรียนที่น่าศึกษา  งานวิจัยเรื่อง “โทรทัศน์ส่วนภูมิภาค :การกำเนิด ดำรงอยู่และการพัฒนา” ของ อาจารย์ภัทรา บุรารักษ์ มหาวิทยาลัยพะเยา ระบุข้อมูลไว้ว่า  BBC ได้จัดตั้งสถานีสาธารณะตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศอังกฤษ โดยให้สถานีส่วนภูมิภาคแพร่ภาพรายการทั้งผลิตจากท้องถิ่นและจากเครือข่ายระดับชาติ(สถานีแม่ข่าย)  

แต่ตลอดระยะเวลาของการดำเนินงานประเด็นที่ได้รับการวิพากษ์คือ “ความเป็นอิสระ”ของสถานีส่วนภูมิภาค โดยระบุว่าสถานีแม่ข่าย ณ กรุงลอนดอน มักรวบการบริหารจัดการและการตัดสินใจไว้ที่ศูนย์กลาง ทำให้สถานีฯ ส่วนภูมิภาคขาดความเป็นอิสระ การนำเสนอรายการไม่สอดคล้องและไม่ตอบสนองความเป็นท้องถิ่นของแต่ละภูมิภาค

ระบบการบริหาร: เดิมการดำเนินงานทั้งด้านการจัดผังรายการ การจัดสรรเวลาสำหรับท้องถิ่นของสถานีส่วนภูมิภาคของ BBC อยู่ภายใต้การกำกับของสถานีแม่ข่ายในกรุงลอนดอน  จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม แม้แต่ผู้ปฏิบัติงานของ BBC ส่วนภูมิภาคเองได้วิจารณ์ว่าการรวมศูนย์อำนาจการบริหารอยู่ที่สถานีแม่ข่ายทำให้ BBC กลายเป็นองค์กรที่ครอบงำวัฒนธรรมของชาติอย่างรวดเร็ว 

ปีค.ศ. 1936 Charles  Siepmann ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคสัมพันธ์ ( Director of Regional Relations) ได้เสนอต่อสาธารณะเกี่ยวกับการควบคุมและการรวมศูนย์อำนาจระหว่างสถานีแม่ข่ายหลักและสถานีลูกข่ายตามภูมิภาคว่า BBC มีแนวโน้มเป็นองค์กรที่มีการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์อำนาจเพิ่มขึ้น ถือเป็นรูปแบบการบริหารที่เป็นอันตรายต่อชาติ ทำให้ประชาชนมีรูปแบบการคิด มาตรฐานรสนิยมและค่านิยมเดียวกันทั้งชาติ นอกจากนั้นเขาได้เรียกร้องความเป็นอิสระให้กับสถานีส่วนภูมิภาคได้มีสิทธิการคิด นำเสนอ และรับรู้ตามรสนิยม และวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้น  ๆ ควบคู่กับการทำหน้าที่การเป็นองค์การทางวัฒนธรรมของชาติและของท้องถิ่นในสัดส่วนที่เหมาะสม    

ข้อเสนอของ  Siepmann  สอดคล้องกับแนวคิดของ John Reith ผู้บริหารของ BBC คนแรก (ค.ศ.1927)  ในช่วงหลังจากที่ BBC เปลี่ยนฐานะองค์กรจากบริษัทเป็นบรรษัทกระจายเสียง ตาม Royal Charter ฉบับที่ 1 ที่เคยระบุไว้ว่า “หากวัฒนธรรมของลอนดอนหรือของชาติจากส่วนกลาง ได้รับการนำเสนอผ่าน BBC มากเกินไป จะกลายเป็นการบดบังหรือทำให้สังคมมองไม่เห็น วัฒนธรรม วิถีชีวิต การแสดงออกของภูมิภาคในพื้นที่ต่างของประเทศ” (Harver and Robins,1994:42-43)

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ช่วง ค.ศ. 1945   BBC ได้แบ่งการกระจายเสียงส่วนภูมิภาคใหม่ออกเป็น  6 เขตคือเขตที่ใช้ภาษาอังกฤษ  English Regions 3 เขต และเขตที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการคือ Scotland ,Wales และ Northern Ireland   พร้อมกับประกาศว่าจะสนับสนุนให้สถานีส่วนภูมิภาคดำรงอยู่และเป็นมรดกของชาติสืบไป โดยจะฟื้นฟูความเชี่ยวชาญและการสร้างสรรค์รายการที่ตอบสนองวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติ พร้อมกับกำหนดให้สถานีโทรทัศน์ส่วนภูมิภาคทั้ง 6 สถานีนำเสนอรายการที่ผสมผสานและตอบสนองคนกลุ่มน้อยอย่างหลากหลายกลุ่มในเขตพื้นที่ของตนอย่างเหมาะสมและทั่วถึง  

โดยจัดสรรเวลาออกเป็น  2 ลักษณะคือเวลาของท้องถิ่นหรือภูมิภาค (Opting Out)  และเวลาของเครือข่ายระดับชาติ (Opting in)  แต่แนวทางดังกล่าวในขณะนั้นเป็นเพียงการประกาศเจตนารมณ์ของกรรมการระดับสูงเท่านั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายกฎและระเบียบใด ๆ ออกมารองรับที่จะเป็นการรับประกันการดำเนินงานของสถานีโทรทัศน์ส่วนภูมิภาคให้มีความเป็นอิสระและตอบสนองความเป็นท้องถิ่นได้ (Briggs,1995a:87-88)  
 
เวลาการแพร่ภาพออกอากาศของโทรทัศน์ส่วนภูมิภาค  เป็นประเด็นที่เป็นวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันเพราะในแต่ละภูมิภาคต่างต้องการที่ได้รับจัดสรรเวลาของส่วนภูมิภาคมากขึ้น   แต่มักประสบปัญหาการจัดสรรเวลาน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเวลาของรายการที่มาจากเครือข่ายระดับชาติ  จนทำให้ผู้ชมในท้องถิ่นออกมาร้องเรียน เช่นในระหว่างปีค.ศ. 1936-1945    ประชาชนจากส่วนภูมิภาค Wales ต่อว่ารายการของสถานีภูมิภาคเป็นรายการที่เน้นการนำเสนอภาษาอังกฤษมากเกินไปและแทบไม่มีเรื่องราวที่สะท้อนความเป็นท้องถิ่น 

ส่วนประชาชนที่ Scotland มีการวิพากษ์วิจารณ์และตั้งข้อสงสัยต่อที่มาของผู้บริหารสถานีภูมิภาคที่ไม่เคยปรากฏคนจากท้องถิ่นมีโอกาสเข้าไปร่วมเป็นผู้บริหารแม้แต่คนเดียว อีกทั้งรายการที่นำเสนอเช่นรายการข่าวยังถูกลดความสำคัญลงให้กลายเป็นเพียงข่าวประกอบในรายการข่าวของ BBC แม่ข่ายเท่านั้นและที่สำคัญเนื้อหารายการส่วนใหญ่แทบไม่ได้สะท้อนความต้องการของคนท้องถิ่น
  
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้คณะกรรมการบอร์ดของ BBC ในกรุงลอนดอนต้องชี้แจงต่อสภาคณะรัฐมนตรีต่อประเด็นการผูกขาดอำนาจและการควบคุมจากสำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอน   กรณีดังกล่าวส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในส่วนของประชาชนในท้องถิ่นที่มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยที่จะให้ส่วนภูมิภาคกำหนดเวลาหรือจัดสัดส่วนเวลาระหว่างภูมิภาคเพิ่มขึ้นตามมาจนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างความเป็นท้องถิ่นนิยมกับชาตินิยมเกิดขึ้นในภูมิภาคนั้น (Briggs,1995a: 89-90)

อย่างไรก็ตามมีการศึกษาถึงสัดส่วนเวลาระหว่างเวลาท้องถิ่นและรายการระดับชาติ หลังจากเหตุการณ์แล้วในช่วง1991-1992  ผลการศึกษายังคงพบความไม่เท่าเทียมในการจัดสรรเวลาระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลางเช่นเดิม  ทำให้การเรียกร้องจากผู้บริหารในภูมิภาคและคนท้องถิ่นต่อประเด็นการจัดสรรเวลาท้องถิ่นอย่างเหมาะสมโดยตระหนักถึงความแตกต่าง  ความเป็นอิสระของแต่ละภูมิภาคยังคงเกิดขึ้นเสมอ (Harver and Robins,1994:49-50)
          
ค.ศ. 1960 ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ส่วนภูมิภาคตะวันตกของBBC คนหนึ่งได้ออกมาเสนอว่าจุดแข็งของการกระจายเสียงของท้องถิ่นที่จะทำให้ดีที่สุดคือ การตอบสนองความต้องการของภูมิภาคและท้องถิ่นอย่างแท้จริง  พร้อมกับมีบทบาทการเป็นตัวแทนของระบบกระจายเสียงระดับชาติและนานาชาติอย่างเหมาะสม  โดยนำเสนอรายการที่มีลักษณะที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเอง  เขาเสนอว่าบทบาทหลักของการกระจายเสียงส่วนภูมิภาคก็คือการให้สาระความรู้ และข้อมูลข่าวสาร

โดยสถานีฯ ควรสร้างฝ่ายข่าวภูมิภาคขึ้นเองเพื่อให้เป็นงานหลักของการดำเนินงานสถานีส่วนภูมิภาค ส่วนความบันเทิง สถานีโทรทัศน์ส่วนภูมิภาคควรให้ความสำคัญเป็นลำดับรองเพื่อจะรักษาความสมดุลของเนื้อหารายการเท่านั้น เพราะหากมุ่งเน้นแต่การนำเสนอความบันเทิงมากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อความเป็นสถานีโทรทัศน์ของภูมิภาคอย่างแท้จริง  

ระหว่างค.ศ. 1980 -1990 มีการตระหนักถึงความสำคัญของภูมิภาคในบริบทBBCใหม่ที่เริ่มมีการเปลี่ยนผ่านทางสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้สำนักงานใหญ่เริ่มยอมรับผังและยอมรับแรงกดดันที่มาจากสถานีโทรทัศน์ส่วนภูมิภาคและประชาชนในภูมิภาค โดยคณะกรรมการสูงสุดได้ออกแถลงการณ์ว่า BBC เป็นสถานีโทรทัศน์ที่ให้ความสำคัญกับทุกภาคทุกกลุ่ม  ไม่ได้เป็นบรรษัทกระจายเสียงสำหรับเมืองหลวงหรือกรุงลอนดอนเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นการพัฒนาระบบการกระจายเสียงภูมิภาคที่เป็นปัญหามากว่า 2 ศตวรรษอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น (Harver and Robins,1994: 44) 

ความเป็นสื่อสาธารณะระดับภูมิภาคของ ThaiPBS
         
สำหรับ ThaiPBS มีความพยายามขยายบทบาทสื่อสาธารณะมายังระดับภูมิภาคตั้งแต่ปี 2552 หรือ 1 ปีหลังการก่อกำเนิดสถานีฯ โดยสำนักเครือข่ายสื่อพลเมืองและสำนักข่าวร่วมกัน(นำร่อง)สร้างการทำงานร่วมเพื่อให้เกิดหน่ออ่อนของวิธีคิดและการทำงานแบบสื่อสาธารณะในพื้นที่ภูมิภาคนั่นคือ “การมีส่วนร่วมของประชาชน”  โดยคิดจากทรัพยากรที่มี คือศูนย์ข่าวภาคเหนือ ใต้  อิสาน (เจ้าหน้าที่จากสำนักข่าวและสำนักวิศวะ)  และเติมโครงสร้างใหม่ของส.ส.ท.เข้าไปคือฝ่ายประชาสังคม (เจ้าหน้าที่จากสำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง) ทำงานเชื่อมโยงกับภาคประชาชน คนทำสื่อ นักวิชาการในพื้นที่ โดยออกแบบกลไกการทำงานร่วมกัน และมีพื้นที่ปฏิบัติการคือหน้าจอสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง

เป้าหมายของงาน มิใช่เพียงแค่การ “ผลิตรายการ” หากแต่เป็นการร่วมกันกำหนดทิศทางของการพัฒนาสถานีในระยะยาวที่ตอบโจทย์คนท้องถิ่น การทำงานดังกล่าวจึงเป็นทั้งการคิดถึงการพัฒนาองค์ความรู้ด้านสื่อสารสาธารณะ การเรียนรู้ทักษะและการผลิตบุคลากรที่มีความเข้าใจด้านการสื่อสาร  ควบคู่ไปกับการมีหน้าจอเพื่อเป็นพื้นที่สื่อสาร  

การทำงานร่วมกันดังกล่าว นำไปสู่การพัฒนากลไกการทำงานที่สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมและกระจายบทบาทไปตามศักยภาพ เช่น ร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาสถานีผ่านการมาร่วมเป็นคณะทำงาน(นำร่อง)สถานีโทรทัศน์ภูมิภาคในแต่ละภาค   ร่วมคิด ผ่านการมาร่วมเป็นกองบรรณาธิการร่วม วิเคราะห์ประเด็นและทิศทางของข่าวทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่  ร่วมผลิตผ่านบทบาทการเป็นนักข่าวพลเมือง และผู้ผลิตอิสระภาคประชาชน ที่สสท.มีโครงการพัฒนาศักยภาพ  โดยเริ่มปฏิบัติการที่ภาคใต้เป็นแห่งแรก ตามมาด้วยภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
                    
ในช่วงเริ่มต้น เครื่องมือการทำงานสำคัญในพื้นที่ภูมิภาคคือ “วงประชุม” เป้าหมายก่อให้เกิดกลไกทำงานร่วมหลักๆ  2 ระดับคือ
1.คณะทำงานพัฒนาสถานีฯ  วางแผนเสนอทิศทางระยะยาว /ขยายการมีส่วนร่วม-การพัฒนาทักษะหลายระดับ /ประเมินการทำงาน  
2.กองบ.ก.ร่วม ฯ ประชุมเชิงประเด็น  (ขยับประเด็นในหน้าจอหลายระดับ)

 แต่โครงสร้างดังกล่าวมีการเลื่อนไหลไปตามสภาพพื้นที่ เช่นภาคใต้มีคณะทำงานเริ่มต้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ มีพื้นที่หน้าจอคือรายการ “ดีสลาตัน ณ แดนใต้” แต่ต่อมากลุ่มเครือข่ายนักข่าวพลเมืองมีบทบาทร่วมขับเคลื่อนในการประชุมกองบก.ร่วม และผลักดันทั้งในเชิงให้พื้นที่จอภูมิภาค ให้มีการกระจายประเด็นนำเสนอให้ครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ ขณะเดียวกันก็ลงมือผลิตประเด็นสาธารณะออกสู่หน้าจอกลางผ่านงานนักข่าวพลเมือง  ภาคเหนือมีการผลักดันประเด็นจากวงกองบก.สู่การทำงานของ “รายการทีวีจอเหนือ” แต่หลังจอก็มีการพัฒนาผู้ผลิตอิสระภาคประชาชนที่สามารถสร้างสรรค์ชิ้นงาน และรายการออกอากาศในจอกลางได้ด้วยเช่น นักข่าวพลเมือง สารคดีสั้น และ“รายการเด็กมีเรื่อง”     ภาคอิสาน นอกจากตัวรายการจออินสานแล้ว มีการทำงานเชิงเจาะกลุ่มในการฝึกอบรมนักข่าวพลเมืองและทำความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา พัฒนาการทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้เกิดผลในเชิงวิชาการ และงานวิจัย  เป็นต้น

พื้นที่การสื่อสารและการทำงานเชิงผลิต

ยุคเริ่มต้น 2552 –กย. 2554 แต่ละภาคจะมีพื้นที่หน้าจอโทรทัศน์สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ออกอากาศในพื้นที่ภูมิภาค โดยมีทีมผลิตที่ขึ้นอยู่กับสำนักข่าวเป็นผู้ผลิตรายการ  รูปแบบรายการมีการออกแบบให้มีสัดส่วนของการผลิตจากภาคพลเมืองอยู่ด้วยบ้าง เช่นข่าวพลเมือง สารคดี   ระหว่างนั้นได้มีความพยายามสร้างมาตรฐานระบบการผลิตของสถานีและนำเนื้อหาเข้าสู่จอกลางเพื่อขยายการรับชม สำนักเครือข่ายสื่อพลเมืองจึงนำเนื้อหาของทั้ง 3 จอ มาเรียงร้อยเพื่อนำเสนอใหม่ในรีรันในจอกลางสัปดาห์ละ 3 วัน ในเดือนเมษายน – กันยายน 2554 
           
ในเดือนตุลาคม 2554- ปัจจุบัน  มีการนำรายการทีวีภูมิภาคเข้าสู่จอกลางแทนการออกอากาศเฉพาะพื้นที่และดูแลการผลิตโดยสำนักข่าว  ด้วยเหตุผลแก้ไขปัญหาการรับชมยากในภูมิภาค โดยปรับลดเวลาทั้ง 3 รายการเหลือรายการละ 30 นาทีออกอากาศวันจันทร์-พุธ เวลา 13.35-14.00  รูปแบบรายการมีการปรับเปลี่ยนไป แต่พยายามให้เกิดการคิดร่วมกันเชิงประเด็นยังมีผ่านการประชุมกองบก.ร่วมในบางพื้นที่

พื้นที่ในเชิงการผลิตจากภาคประชาชนที่ปรากฏอยู่ในรูปแบบรายการของภูมิภาคในช่วงเริ่มต้น เช่น นักข่าวพลเมือง สารคดี บางพื้นที่ได้ปรับเปลี่ยนไป  ด้วยเหตุผลเวลาที่ลดลง และจำนวนชิ้นงานจากภาคประชาชนที่ขึ้นอยู่กับการพัฒนาศักยภาพ   อย่างไรก็ตาม สำนักเครือข่ายสื่อพลเมืองได้พัฒนาพื้นที่หน้าจอในจอกลางมากขึ้นเช่น สารคดี  รายการเด็กมีเรื่อง รายการบ้านเธอก็บ้านฉัน รายการพลเมืองผู้เปลี่ยนทิศ  ที่พยายามมีวิธีคิดกำหนดประเด็นสาธารณะจากของเครือข่าย ผู้ผลิตอิสระภาคประชาชนที่จำนวนและทักษะการผลิตที่เข้าใจวิธีคิดของสื่อสาธารณะมากขึ้น  รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมทางการสื่อสารใหม่ เช่นการถ่ายทอดสดทางอินเตอร์เน็ต การสื่อสารสาธารณะผ่าน Multiplatform ที่ใช้เป็นเครื่องมือทำงานร่วมกันภาคประชาชนต่างๆ ในพื้นที่ภูมิภาค   
                                      
ทิศทางการพัฒนา

ต้นเดือนมีนาคมปีนี้ ที่ศูนย์ภาคเหนือ ThaiPBS มีวงคุยแลกเปลี่ยนระหว่างตัวแทนภาคประชาชนที่มาร่วมเป็นกองบก.ร่วม กับกรรมการนโยบาย กรรมการบริหาร และพนักงาน ThaiPBS ถึงความเป็นไปได้และแนวทางการยกระดับเป็นสถานีภูมิภาค  

 วงคุยให้ความเห็นว่าการทำงานในภูมิภาคที่ผ่านมาได้เห็นความก้าวหน้าสำหรับสื่อสาธารณะของไทย แม้ยังไม่ใช่การมาตั้งสถานีท้องถิ่น  แต่เน้นการสร้างการมีส่วนร่วม และส่งเสริมสิทธิการสื่อสารของประชาชน   ให้ความสำคัญกระบวนการหลังจอ  แม้จะพบกับอุปสรรคหลายด้านทั้งการทำงานกับคนที่ต่างความคาดหวัง   ความคิดทางวิชาชีพชุดเดิม  คนดูในเงื่อนไขเดิม   ทั้งหมดอยู่ระหว่างการพัฒนาและเรียนรู้    แต่ก็เห็นการโอกาสของการพัฒนาสถานีภูมิภาคให้แข็งแกร่ง มีโอกาสเป็นไปได้ เพราะ ThaiPBS ก้าวพ้นการเป็นเจ้าของจากอำนาจรัฐและมีทุน และเติบโตมาแล้ว 4 ปี  นอกจากนั้นหากพิจารณาจาก พ.ร.บ. ก็เห็นถึงทิศทางว่าควรเป็นไปเช่นนั้น และในโอกาสที่ได้ร่วมทำงานมา เห็นแนวโน้มที่ลดการระแวงระหว่างคนทำสื่อกับประชาชนลง เกิดความเข้าใจในบทบาทกันและกันมากขึ้น เป็นสัญญานที่ดี เพียงแต่โครงสร้างจะเป็นอย่างไรเท่านั้น 
                           
บทสรุป
ความเห็นส่วนตัวของดิฉัน  หากพิจารณาจากช่วงเวลาและบริบทสังคมการเกิดขึ้นจากสื่อสาธารณะของ BBC และ ThaiPBS แล้ว จะเห็นว่ามีความแตกต่างกัน   รูปแบบการดำรงอยู่ ทิศทางพัฒนาเชิงโครงสร้าง และบทบาทหน้าที่ของการเป็นสื่อจึงมีบางส่วนที่แตกต่างกัน
              
BBC ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อ 85 ปีที่ผ่านมาเป็นยุคที่การสื่อสารเป็นเรื่องใหญ่ เทคโนโลยีและเครื่องมือเป็นทรัพยากรพิเศษที่ยากที่คนนอกวิชาชีพจะเข้าถึง  การลงทุนสร้างองค์กรสื่อของ BBC ทั้งเชิงทรัพย์สิน  สถานี และตัวบุคลากรจึงเป็นการลงทุนที่สูง และการทำงานเบ็ดเสร็จขององค์กรสื่อ ผลิตเนื้อหาสื่อประเภทต่างๆ ด้วยตนเองทำให้มีจุดเด่น  การมีส่วนร่วมกับประชาชนเป็นลักษณะของการพยายามทำหน้าที่สื่อมวลชนให้กับสังคมอย่างรอบด้าน ทั่วถึงด้วยบทบาทของ BBC เอง  

แตกต่างจาก ThaiPBS ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่สื่อโทรทัศน์ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ระบบของรัฐ กองทัพ และทุนมาอย่างยาวนาน  ประกอบกับกลไกที่จะดูแลสังคมหลายกลไกไม่ทำงาน ทำให้สังคมไทยต้องการทั้งพื้นที่อธิบายสิ่งที่ต้องแก้ไข  รวมถึงพื้นที่ที่จะอธิบายความหลากหลายขององค์ประกอบในสังคมที่มากกว่าที่สังคมเคยได้รับผ่านสื่อทั่วไปตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา   บทบาทของ ThaiPBS จึงมีมากกว่าเพียงการรายงานปรากฏการณ์  แต่มีหน้าที่ขับเคลื่อนสังคมเพื่อเปลี่ยนแปลงด้วย หนึ่งในการขับเคลื่อนนั้นคือการอธิบายให้เห็นว่าสังคมไทยมิได้มีวัฒนธรรมเดี่ยว  แต่มีความหลากหลายซับซ้อนในบริบทของภูมิภาคและท้องถิ่นอยู่ด้วย

ข้อแตกต่างอีกประการคือ ThaiPBS เกิดขึ้นในยุคที่สื่อเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นมากด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป   กล้องมีขนาดเล็กลง โปรดักชั่นเฮาส์เกิดขึ้นมากมาย  คนๆ เดียวสามารถเป็นเจ้าของทีวีออนเน็ต หรือวิทยุได้ การทำงานข้ามสื่อเป็นเรื่องที่จำเป็นของคนในวิชาชีพสื่อ  พลเมืองตื่นตัวและตระหนักในสิทธิด้านการสื่อสารมากขึ้นเรื่อยๆ  ที่สำคัญการก่อเกิดของ ThaiPBS มีจุดเกาะเกี่ยวกับการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในหลายระดับ  ที่อาจนำไปสู่การร่วมมือทั้งเชิงความคิดและการลงมือเชิงผลิตร่วมกันได้หลายลักษณะจากศักยภาพของผู้ผลิตสื่อในพื้นที่เอง  ซึ่งเป็นแนวทางที่ ThaiPBS ดำเนินอยู่บ้างแล้ว เช่น นักข่าวพลเมือง  การสร้างจอภูมิภาคอย่างมีส่วนร่วม 

แต่พัฒนาการในอนาคต การจัดการในระดับพื้นที่เป็นโจทย์สำคัญที่จะต้องร่วมกันขบ  ความคิดของคนในภูมิภาคของไทยต่อการทำงานของสื่อ ThaiPBS ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีบรรยากาศความคาดหวังและต้องการไม่ต่างจากบทเรียนการเรียกร้องบทบาทสื่อในระดับภูมิภาคที่ BBC ผ่านประสบการณ์มา ก้าวย่างต่อไปในพื้นที่ภูมิภาคของ ThaiPBS จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายของการพัฒนาสื่อสาธารณะแห่งแรกแห่งนี้ให้ตอบโจทย์บริบทที่หลากหลายของสังคมไทย 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง