"เกษตรกรรมยั่งยืน"...ต้องยืนด้วยตัวเอง

11 เม.ย. 55
09:38
18
Logo Thai PBS
"เกษตรกรรมยั่งยืน"...ต้องยืนด้วยตัวเอง

“พันธุกรรมพื้นบ้านดีทำไมหายไป พันธ์ใหม่มาทำไมเป็นหนี้” นี่เป็นคำกล่าวของ ดาวเรือง พืชผล เกษตรกรเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จังหวัดยโสธร ที่ได้บอกเล่าถึงเหตุผลของการเลือกใช้พันธุ์กรรมข้าวพื้นบ้านในการปลูก

หลังจากที่ประสบกับปัญหาเรื่องการใช้สารเคมีในพื้นที่เพราะชาวบ้านเน้นเรื่องการค้า และการทำเพื่อเศรษฐกิจ ผลกำไรนี่เป็นอีกหนึ่งหัวข้อในการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันถึงเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน ในงานเวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ครั้งที่  2           

ดาวเรือง ยังกล่าวต่อว่า การปลูกข้าวที่จะให้มีความยั่งยืน นอกจากไม่ใช้สารเคมีแล้ว ก็ไม่ใช่แต่เพียงปลูกข้าวอย่างเดียวเพราะมันไม่สามารถยั่งยืนได้ “เราต้องมีพันธุ์ข้าวที่เป็นของตัวเอง จึงรวมกลุ่มกันทำเรื่องพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน”           

“เหตุผลที่เราเลือกใช้พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน เพราะสามารถปลูกได้ในที่ดอนได้ และมีความคงทนสูง การปลูกเองนั้นเป็นการลดค่าใช้จ่ายราคาข้าวและอาหารที่แพงมากขึ้น และยังมีผลต่อสุขภาพทำให้สุขภาพดีขึ้นเพราะปลูกเองไม่ใช้สารเคมีในการปลูก” นี่คือเหตุผลที่เกษตรยั่งยืนต้องคำนึงถึงด้านภูมิศาสตร์ในการปลูกข้าวแล้วต้องมีพันธุ์ข้าวอยู่ในมือด้วย            

เช่นเดียวกับ ธาดา อำพิน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยเก่า อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี ที่กล่าวว่า การใช้สารเคมีของชุมชนตนก็ทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายตาย และถือเป็นมหันตภัย ที่ต้องมาวิเคราะห์การแก้ปัญหา ซึ่งจากการทำข้อมูลบัญชีครัวเรือน พบว่า ตำบลมีการลงทุนด้านการเกษตรสูงมาก และคนเข้ารักษาพยาบาลก็เยอะขึ้น หากหันมาใช้เกษตรอินทรีย์นอกจากจะลดต้นทุนได้แล้ว ยังทำให้สุขภาพของคนในชุมชนดีขึ้นอีกด้วย           

ด้าน วีรชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสำนักงานปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มองว่า จากการที่ชีวิตเกษตรกรไทยเปลี่ยนไป เป็นจ้างหมด เกษตรกรก็ไปไม่รอด “วิถีชีวิต วิธีคิด พึ่งคนอื่น ตั้งแต่เตรียมดิน เมล็ดพันธุ์ แล้วจะมีเงินเหลือได้อย่างไร เหลือแต่หนี้”            

 “ไหนจะต้องมาซื้อกินอีก เกษตรทำอาหารปลูกข้าวทำไมต้องซื้ออาหารกิน นั่นคือรายจ่ายมากขึ้น ความมั่นคงอาหารมันอยู่ที่ไหน  ดังนั้นการผลิตอาหารควรพึ่งตนเองในเบื้องต้นก่อน แล้วอีกปัญหาหนึ่งที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านอาหารก็คือ การใช้พื้นที่ทำนาไปปลูกพืชที่สร้างรายได้สูง ราคาดี  เช่น ปลูกยาง ข้าวโพด พืชน้ำมัน  และในอนาคตจะมีการเปิดประชาคมอาเซียนอีก ซึ่งก็จะทำให้ส่งผลกระทบด้านการเกษตรอย่างแน่นอน ซึ่งเกษตรกรควรเตรียมความพร้อมในการรับมือไว้ล่วงหน้า           

ด้าน ดร.นันทิยา หุตานุวัตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวเสริมว่า เกษตรยั่งยืนจะอยู่รอดได้ ถ้าสามารถทำเป็นชุมชนได้ “เป็นชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน หรือเรียกชุมชนสีเขียว รวมเป็นกลุ่ม มีตลาด ผู้ผลิตพบผู้บริโภคโดยตรง เกษตรกรกำหนดราคาเอง ที่ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ถ้าสร้างชุมชนแบบนี้ก็จะทำให้เกษตรกรมีศักดิ์ศรี พึ่งตนเองได้ มีรายได้ และมีความมั่นคงทางด้านอาหาร”           

ปัญหาด้านการเกษตร ไม่ว่าจะปัญหาด้านการใช้สารเคมี ปัญหาหนี้สิน ซึ่งเป็นผลทำให้เกษตรกรยากจน และขาดศักดิ์ศรี หากวันนี้เกษตรกรทั้งหลายหันกลับมาให้ความสำคัญกับการพึ่งตนเอง เฉกเช่นเกษตรกรยุคเก่า และนำความรู้ที่มีมาสร้างคุณค่าด้านราคา ก็จะช่วยลดปัญหาทั้งหมดของเกษตรกรได้  ทั้งยังสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับประเทศอีกด้วย 
 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง