ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เตือนผู้ใช้มือถือไปเมืองนอก ระวังบริการ "โรมมิ่ง" ทำค่าบริการอ่วม

Logo Thai PBS
เตือนผู้ใช้มือถือไปเมืองนอก ระวังบริการ "โรมมิ่ง" ทำค่าบริการอ่วม

แนะนำผู้บริโภคอ่าน “มือถือไปเมืองนอก” ก่อนเที่ยวต่างประเทศ โดย กสทช.ประวิทย์ เตือนผู้บริโภคเที่ยวเชียงคาน เที่ยวเมืองนอก ควรอ่าน “มือถือไปเมืองนอก” ก่อนสมัครใช้บริการโรมมิ่ง ระบุ สิ่งสำคัญคือ ต้องเลือกรับสัญญาณเฉพาะเครือข่ายที่สมัครเท่านั้น ป้องกันการเป็นหนี้จากบริการโทรคมนาคม

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา  กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวเช่น ปิดเทอม หรือสงกรานต์เช่นนี้ สำหรับผู้ใช้ที่จะเดินทางท่องเที่ยวไปต่างประเทศ และนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ ประเภท สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ไปด้วยนั้นมีข้อควรระมัดระวังคือ หากสมัครใช้บริการข้ามแดนอัตโนมัติ หรือโรมมิ่ง จะต้องตั้งค่าเครื่องด้วยมือ หรือ Manual ให้เลือกรับสัญญาณเฉพาะเครือข่ายที่อยู่ในโปรโมชั่นเท่านั้น และต้องระมัดระวังเพราะบางครั้งเครือข่ายในต่างประเทศมีชื่อคล้ายคลึงกัน เช่น airtell กับ aircell และควรเลือกสมัครรายการส่งเสริมการขายที่เหมาะสมกับการใช้งาน เนื่องจากอัตราค่าบริการข้ามแดนอัตโนมัติโดยเฉพาะ Data โรมมิ่งนั้นมีอัตราสูง และในกรณีที่ใช้สมาร์ทโฟนจะมีการเชื่อมต่อตลอดเวลา ผู้ใช้บริการจึงควรศึกษาเงื่อนไขการให้บริการพร้อมอัตราค่าบริการก่อนเดินทาง

“นอกจากโทรศัพท์สมาร์ทโฟนแล้วอุปกรณ์โทรคมนาคมสมัยใหม่ประเภท แท็บเล็ต เช่น iPad  ยังมีข้อจำกัดไม่สามารถรับข้อความสั้นหรือ SMS แจ้งเตือนของผู้ให้บริการได้ ทำให้ไม่ได้รับข้อมูลปริมาณการใช้งานจากบริษัท กรณีนี้ อาจต้องแจ้งอีเมลไว้กับเครือข่ายผู้ให้บริการเพื่อใช้เป็นช่องทางแจ้งปริมาณการใช้งานมาให้เราได้ทราบ หรือในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวเช่นนี้ ขอให้ระมัดระวังกรณีท่องเที่ยวในพื้นที่ชายแดน  หากเปิดใช้บริการโรมมิ่งไว้ เครื่องโทรศัพท์อาจไปจับสัญญาณอัตโนมัติ ดังนั้นอาจปิดบริการโรมมิ่ง หรือสังเกตหน้าจอขณะใช้งาน ซึ่งพบว่า มีผู้ร้องที่เดินทางไป เชียงคาน จ.เลย หรือ แม่สาย จ.เชียงราย ช่วงสงกรานต์ปีที่ผ่านมาถูกคิดค่าบริการดาต้าโรมมิ่งไปเกือบหกหมื่นบาท” กสทช.ประวิทย์กล่าว

นายประวิทย์กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ สำนักงาน กสทช. ได้มีการจัดทำคู่มือเล่มเล็กๆ เรื่อง การใช้บริการข้ามแดนอัตโนมัติ ชื่อ “มือถือไปเมืองนอก” หรือ Mobile Passport   เพื่อแจกให้กับผู้ที่สนใจสามารถศึกษาป้องกันปัญหาบิลช็อกได้ โดยมีแจกที่จุดประชาสัมพันธ์การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย และจุดทำพาสปอร์ต ของกรมการกงสุล ที่ แจ้งวัฒนะ เซ็นทรัลปิ่นเกล้า เซ็นทรัลบางนา สำหรับเผยแพร่ให้กับผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศ และสามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.tci.or.th

ทั้งนี้จากการรับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่ปี 2552-2554 พบว่า มีการร้องเรียนเรื่อง การใช้บริการข้ามแดนอัตโนมัติจำนวนทั้งสิ้น 118 กรณี รวมมูลค่าค่าบริการที่ถูกโต้แย้งทั้งหมดประมาณ 4,495,874 บาท  สาเหตุสำคัญมาจากการไม่ทราบเงื่อนไขการใช้บริการตามรายการส่งเสริมการขายนั้น การไม่ทราบวิธีการตั้งค่าใช้งานอุปกรณ์สื่อสารที่ใช้งานอยู่ ทำให้ผู้ใช้บริการหลายรายต้องกลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่จากการใช้บริการโทรคมนาคมอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์  การใช้บริการข้ามแดนอัตโนมัติจึงเป็นสิ่งที่ผู้ใช้บริการต้องใส่ใจและพึงระมัดระวังอย่างสูง
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง