ปัญหาดินทรุด นักธรณีวิทยายืนยันไม่เกี่ยวกับน้ำท่วม
การจำลองโครงสร้างชั้นดินในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ชี้ให้เห็นถึงส่วนประกอบของชั้นดินเหนียวอ่อน ที่ลึกจากระดับผิวดิน 10 - 27 เมตร ถัดลงไปจะเป็นในส่วนของชั้นดินเหนียวปนทราย และหากมองเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะพบว่า ความลึกของชั้นดินเหนียวอ่อนจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 12 เมตร ซึ่งน้อยกว่า พื้นที่ปริมณฑล และจังหวัดภาคกลาง ที่อยู่ระดับ 14-20 เมตร
สิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ และระบบสาธารณูปโภค เช่น การสูบน้ำบาดาลไปใช้ ทำให้แต่ละปี พื้นดินของ กทม.ทรุดตัวเฉลี่ย 2 เซนติเมตร โดยจากข้อมูลในรอบกว่า 30 ปีของกรมทรัพยากรธรณี พบว่า เขตบางกะปิ สะพานสูง และ บึงกุ่ม มีการทรุดตัวของดินมากที่สุดถึง 1 เมตร
นายทินกร ทาทอง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี ยืนยันว่า การทรุดตัวของดินใน กทม.เป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นได้ เพราะชั้นดินเหนียวอ่อน เกิดจากการตกตะกอนของทะเลในอดีต ทำให้ดินในที่ลุ่มภาคกลาง รวมถึง กทม.ทรุดตัวได้ง่ายกว่าภาคอื่น ซึ่งน้ำท่วมที่ผ่านมาไม่ใช่สาเหตุการทรุดของชั้นดินใน กทม.
ขณะเดียวกันการทรุดตัวของดินใน กทม. ก็ไม่ใช่ปัจจัยหลัก ที่ส่งผลต่อการทรุดตัวของถนนหลายสายในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น ถ.พระราม 4 บริเวณแยกวิทยุ ถ.เจริญกรุง และล่าสุดที่ ถ.พญาไท ซึ่ง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย ให้ข้อมูลว่า การทรุดตัวของดินส่วนใหญ่จะกระทบต่อโครงสร้างอาคาร ที่พักอาศัย โดยจะเห็นรอยแตกร้าว ความห่างระหว่างดินกับตัวบ้านอย่างชัดเจน สำหรับถนนอาจมาจากปัจจัยความผิดพลาดในการออกแบบ และการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคมากกว่า
ขณะที่ กรุงเทพมหานคร ร่วมกับหลายหน่วยงาน เตรียมเปิดผิวถนนพระราม 4 ในคืนวันพรุ่งนี้ (21 เม.ย.) เพื่อหาสาเหตุการทรุดตัว โดยจะขุดถนนลึก 3 เมตร เพื่อให้ถึงชั้นของท่อระบายน้ำ กทม.เนื่องจากก่อนหน้านี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าสาเหตุถนนทรุดตัวมาจากท่อระบายน้ำของ กทม.หรือท่อประปาของ การประปานครหลวง รวมถึงซ่อมถนนพระราม 4 ฝั่งขาออก ที่เพิ่งพบโพรงใต้ถนนลึกเกือบ 1.50 เมตร อีกด้วย