สื่อกับอิสรภาพในพม่ายุคใหม่
การเผยแพร่ผลงานผ่านสื่อทุกแขนงในพม่าทุกครั้งต้องผ่านการรับรองจากรัฐบาลทหารพม่า ทางเลือกของ No U Turn มีเพียงแค่โอนอ่อนตามรัฐบาลหรือดำรงสถานะวงใต้ดินอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ซึ่ง Ye Ngwe Soe กล่าวว่านอกจากเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองจะเป็นสิ่งต้องห้ามแล้ว เนื้อเพลงบางท่อนยังถูกแบนแม้ดูไม่มีพิษมีภัย เพราะทางการกลัวว่าศิลปินจะใช้เป็นช่องทางแอบแฝงเนื้อหาซ่อนเร้นทางการเมืองไปสู่ผู้ฟัง
การใช้ดอกประดู่ที่แม้เป็นดอกไม้ประจำชาติก็เคยเป็นสิ่งต้องห้ามในหนังพม่า ซึ่ง Kyaw Thu นักแสดง และผู้สร้างภาพยนตร์ ยังต้องตัดฉากดังกล่าวออกจากหนังเพราะเป็นดอกไม้ที่สื่อถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของนางอองซานซูจี รายละเอียดเล็กน้อยเช่นนี้ ดูแลโดยเจ้าหน้าที่เซนเซอร์ตั้งแต่การตรวจสอบบทหนังก่อนถ่ายทำ จนถึงขั้นตอนโพสต์โปรดักชั่น
สุดท้ายแล้วความเข้มงวดของทางการก็ทำให้ Kyaw Thu ผู้มีผลงานในวงการมาแล้วกว่า 200 เรื่อง ต้องยุติอาชีพการแสดงในปี 2007 เมื่อถูกสั่งห้ามทำหนังหลังจับได้ว่าให้ความช่วยเหลือพระสงฆ์ที่ชุมนุมประท้วงรัฐบาล แม้การเมืองในพม่าจะผ่อนคลายลงบ้าง รวมถึงมีเสียงเรียกร้องให้คืนวงการ ไม่เว้นแม้แต่ พล.อ.เต็งเส่งประธานาธิบดีพม่ายังเคยเปรยว่ามี Kyaw Thu เป็นนักแสดงคนโปรดและอยากดูเขาเล่นหนังอีกครั้ง แต่นักแสดงวัย 52 ปีคิดว่ายังคงไม่ถึงเวลา เพราะรู้สึกว่าคนในรัฐบาลไม่น้อยที่ไม่อยากให้เขาคืนวงการ และขอประเมินท่าทีที่เปลี่ยนแปลงของรัฐบาลครั้งนี้ไปซักพัก
หนังสือพิมพ์ดูเหมือนจะเป็นสื่อที่ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ทางการเมืองของพม่าอย่างชัดเจนที่สุดเมื่อรัฐบาลประกาศว่าจะมีการปฏิรูปกฏหมายสื่อปลายปีนี้ โดยเฉพาะการยกเลิกระบบเซนเซอร์ แต่หลายสำนักพิมพ์ก็ยังรู้สึกได้ถึงความไม่เสมอภาค เมื่อ Myanmar Times หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของพม่ายังไม่สามารถเสนอข่าวได้ทันเหตุการณ์ เพราะต้องส่งต้นฉบับไปให้ทางการตรวจสอบก่อนตีพิมพ์อย่างน้อย 1 สัปดาห์ โดยจะมีรอยปากกาสีแดงส่งกลับมาหากมีเนื้อหาล่อแหลม
Aung Zaw บรรณาธิการนิตยสาร Irrawaddy เป็นหนึ่งในสื่อมวลชนที่รัฐบาลพม่าอยากให้กลับมาทำงานในประเทศอย่างถาวร แต่ตัวเขาเลือกมองอิสรภาพที่ได้มาครั้งนี้อย่างระมัดระวัง เพราะส่วนตัวแล้วยังไม่มั่นใจว่าช่วงเวลาที่กลิ่นอายประชาธิปไตยซึ่งดูเหมือนอบอวลไปทั่วพม่าเช่นนี้จะยั่งยืนไปนานเท่าไร