ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หลายประเทศ พยายามผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก

Logo Thai PBS
หลายประเทศ พยายามผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก

หลายประเทศ พยายามแสวงหาพลังงานไฟฟ้า เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ที่ประเทศเดนมาร์ก ใช้พลังงานทางเลือกมาผลิตกระแสไฟฟ้า ทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ ก๊าซชีวภาพ ทำให้ปัจจุบันประเทศเดนมาร์ก จึงเป็นผู้นำด้านการใช้พลังงานทดแทน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

ประเทศเดนมาร์ก พัฒนากังหันลม ตั้งแต่ทศวรรษที่ 80 และได้ดำเนินโครงการทดลองจัดตั้งโรงไฟฟ้าขนาด 5 เมกกะวัตต์ ที่ใช้พลังงานลมตั้งแต่ปี 2531 และพบว่า ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2533 การพลังงานแห่งเดนมาร์ก ได้อนุมัติจัดตั้งโรงไฟฟ้าขนาด 40 เมกกะวัตต์ นอกชายฝั่ง ห่างจากโคเปนเฮเกนประมาณ 2 กิโลเมตร โดยใช้กังหันลม 20 ตัว และจัดตั้งโรงไฟฟ้านอกชายฝั่ง เพื่อใช้ที่เกาะพลังงานหมุนเวียน แซมโซ (Samso) ในปี 2544 เดนมาร์กได้ติดตั้งกังหันลมทั้งประเทศรวม 6,000 ตัว สามารถผลิตพลังงานกระแสลมได้ถึง 2,500 เมกกะวัตต์ จากนั้นได้เพิ่มกังหันลมที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมอีก 300 ตัว มีกำลังผลิตรวม 3,000 เมกกะวัตต์ และขยายเครือข่ายการผลิตพลังงานลม นอกชายฝั่งอีก 2 แห่ง ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเท่ากับการใช้ 150,000 ครัวเรือน

ส่วนโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าและระบบทำความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ มีอยู่ประมาณ 30,000 แห่ง โดยตั้งอยู่ที่เกาะ Aeroe ครอบคลุมพื้นที่ 19,000 ตารางเมตร ซึ่งพลังงานที่ผลิตได้ สามารถกักเก็บสำรองไว้ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 7,500 เมกกะวัตต์ ขณะเดียวกันก็มีการส่งเสริมการใช้พลังงานชีวมวลจากการใช้ฟาง เศษไม้ และขยะจากพืช ซึ่งปัจจุบันมีการใช้มากถึงร้อยละ 80 ของการใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด โดยโรงงานที่ผลิตพลังงานประเภทนี้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เฉลี่ย 570 เมกกะวัตต์ และมีการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพ , พืชพลังงาน,  น้ำมันชีวภาพ และ พลังงานน้ำ

ขณะที่ในประเทศไทย มีการนำต้นแบบจากเกาะ Samso ประเทศเดนมาร์ก มาทดลองตั้งเกาะพลังงานสะอาดต้นแบบ หรือ กรีนไอส์แลนด์ ขึ้น ที่เกาะพะลวย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ส่งเสริมการใช้พลังงานชีวมวลในครัวเรือน อาทิ ถ่านไม้ที่ผลิตจากเตาเผาถ่านประสิทธิภาพสูง ก๊าซชีวมวลที่ผลิตจากของเหลือทิ้งทางการเกษตร และก๊าซชีวภาพที่ผลิตจากมูลสัตว์ มีการส่งเสริมปลูกพืชพลังงาน ส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลในรถยนต์และเรือประมงพื้นบ้าน ส่งเสริมการใช้หลอดไฟฟ้าประหยัดพลังงานในครัวเรือน สนับสนุนการใช้มอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าบนเกาะ การแปรรูปอาหารทะเลตากแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สนับสนุนให้ชุมชนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรท้องถิ่น พัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาพลังงาน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของเกาะ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง