นักวิชาการแนะรัฐบาลหามาตรการลดต้นทุนผู้ประกอบการ
ผศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เชื่อว่าประชาชนจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร หรือเอฟที อีกหน่วยละ 30 สตางค์ในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ รวมถึงราคาค่าโดยสาร ที่มีผลกลางเดือนพฤษภาคมด้วย รวมทั้งหากรัฐบาลเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลมาอยู่ในอัตราปกติที่ลิตรละ 5.30 บาท จากปัจจุบันที่ยกเว้น ก็จะส่งผลให้สินค้าบางตัวต้องปรับราคาขึ้น แต่ถ้าหากพิจารณาจากเงินเฟ้อที่กระทรวงพาณิชย์ทำดัชนีราคาผู้บริโภค ที่ยังอยู่ที่ร้อยละ 3.4-3.5 ก็ยังถือว่าไม่สูงมาก
สำหรับการปรับขึ้นค่าแรง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่กำลังดีขึ้น ผศ.ธนวรรธน์ เชื่อว่าประชาชนยังอยู่ในระดับที่ปรับตัวได้ ส่วนภาคอุตสาหกรรมนั้น ไม่น่ามีผลกระทบรุนแรง เพราะผู้ประกอบการทราบอยู่แล้ว และปรับตัวได้ แต่หากค่าใช้จ่ายส่วนอื่นที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรง กับการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี และเอ็นจีวี ก็จะส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มอาจจะทำให้ผู้ประกอบการปรับขึ้นราคาสินค้าได้
ดังนั้นรัฐบาลต้องพยายามทำให้เศรษฐกิจขยายตัว พร้อมเร่งกระจายเม็ดเงินเข้าสู่กระเป๋าประชาชนโดยเร็ว รวมทั้งหามาตรการช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เช่น การปรับปรุงกฎระเบียบของภาครัฐ ที่สร้างภาระให้ผู้ประกอบการ หรือค่าใช้จ่ายบางอย่างที่สูง เช่นค่าไฟ จะสามารถหาแหล่งพลังงานที่มีราคาถูกลงได้หรือไม่ หรือการสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือก