สธ.เผย วัยแรงงานเครียดฆ่าตัวตายสูง แนะลดเครียด คิดบวก
นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือ สธ. เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยมีความเครียดสูง โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีประชาชนขอรับบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต ผ่านสายด่วน 1323 เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 จากปี 2553 จำนวน 102,645 คน เป็น 193,315 คน ในปี 2554 โดยปัญหาที่ขอปรึกษา ได้แก่ ปัญหาสุขภาพจิต อาทิ เครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ โรคทางจิต ปัญหาทางเพศ ปัญหาครอบครัวปัญหาความรัก ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ปัญหาพฤติกรรม ปัญหาการเจ็บป่วยทางกาย ปัญหาสารเสพติด ปัญหาการทำงาน ปัญหาการฆ่าตัวตายและทำร้ายตนเอง ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความเครียดและความกดดันในชีวิตที่เป็นผลจากการ เปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ โดยสาเหตุความเครียดส่วนใหญ่เป็นปัญหาการเงินปัญหา, การงาน
กรมสุขภาพจิต รายงานการฆ่าตัวตายของประเทศไทย พบว่าตั้งแต่ปี 2540-2553 วัยแรงงาน ช่วงอายุ 20-29 ปี มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด 15,994 คน รองลงมา คือ ช่วงอายุ 30-39 ปี และ 40-49 ปี ซึ่งมีจำนวนการฆ่าตัวตายเท่ากัน คือ 14,822 คน ขณะที่ ปี 2553 ช่วงอายุ 30-39 ปี มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด โดยความเครียดที่เกิดขึ้นจากการทำงาน ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นโดยที่ไม่รู้ตัว และไม่ทราบว่าขณะนั้นตัวเองเครียด จึงทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกับคนรอบข้าง จนถึงทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา ส่งผลให้ไม่มีความสุขในการทำงาน และส่งผลไปถึงการทำงานในอนาคต
วิธีคลายเครียด ควรหากิจกรรมผ่อนคลายทำอาทิ การออกกำลัง การพูดคุยกับคนที่เราไว้ใจ การหายใจเข้า-ออก ลึก ๆ การทำสมาธิ ทำจิตให้นิ่งปล่อยวางปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะจะส่งผลเสียทั้งต่อสุขภาพกายและใจ ไม่ควรคลายเครียดด้วยการใช้แอลกอฮอล์ ควรทำใจให้เป็นกลาง ยอมรับความเปลี่ยนแปลง และมีสติ เรียนรู้ที่จะให้อภัยผู้อื่นรวมถึงตนเอง ซึ่งจะช่วยลดความผิดหวังได้ส่วนหนึ่ง และการคิดบวก มองสิ่งดีที่ยังมีเป็นต้นทุน สร้างพลังใจ พลังความคิด และนึกถึงครอบครัวให้มากที่สุด เพราะครอบครัวคือหัวใจที่จพช่วยประคับประคองดูแลจิตใจให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ หากยังเกิดความเครียดหรือเกิดปัญหาความสัมพันธ์ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ ปรึกษาจิตแพทย์ และหากต้องการประเมินสภาวะจิตใจของตนเองสามารถใช้แบบประเมินความเครียดของกรมสุขภาพจิตได้จาก www.dhm.go.th