ศรีธนญชัยในอุษาคเนย์
คำท้าของพระพันวัสสาที่อยากทดสอบศรีธนญชัย ว่าหากทำให้ตนลงสระน้ำได้ถือเป็นผู้ชนะ หากแต่ศรีธนญชัยตอบกลับว่าไม่มีความสามารถเช่นนั้น ทำได้เพียงให้พระพันวัสสาขึ้นจากสระ เมื่อเป็นไปตามนั้น ศรีธนญชัยก็ย้อนศรว่านี่หละ คือกลวิธีหลอกล่อให้ลงน้ำ อีกเรื่องเล่าความเฉลียวฉลาดของศรีธนญชัย ที่ยังถูกบันทึกในรูปแบบภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดปทุมวนารามด้วย
ครูกัญญรัตน์ เวชชศาสตร์ ผู้ศึกษาวรรณคดีไทย ในสมัยรัชกาลที่ 6 รวมไปถึงศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นมานับสิบปี มองว่านิทานมุขตลก หรือ trickter tale นั้นโดดเด่น และมีชื่อเสียงมานาน และมีเอกลักษณ์ของเรื่องราวที่สร้างความเพลิดเพลินให้ผู้ฟังไม่รู้เบื่อ
แม้นิทานเรื่องนี้จะไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน รู้เพียงเล่าสืบกันมาช้านาน ทางภาคกลาง และภาคใต้รู้จักในชื่อศรีธนญชัย ส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือคุ้นเคยในชื่อ นิทานเชียงเมี่ยง โดยมีลักษณะเด่นของเรื่อง คือการใช้ภาษาที่ขบขัน มีเหตุการณ์ที่แปลก แสดงทักษะในการแก้ปัญหา บวกกับความเจ้าเล่ห์ แสนกลที่กลายเป็นเรื่องขบขัน เรื่องราวเหล่านี้เป็นที่คุ้นเคยในแถบเพื่อนบ้านอาเซียนด้วย เช่น กัมพูชา ที่บรรจุนิทานเรื่องนี้ไว้ในหลักสูตรชั้นมัธยมศึกษา
ในพม่า เรียกนิทานประเภทนี้ว่า งะแล็ดโต่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เรียกว่า อาบูนาวัส ส่วนฟิลิปปินส์ เรียก ฮวน ปูซอง ในขณะที่บ้านเราเผยแพร่ทั้งในรูปแบบ หนังสือ ภาพยนตร์ไทย เทปบันทึกเสียง โดยเฉพาะการ์ตูนแอนนิเมชั่นที่เน้นสอนให้เยาวชนรู้จักใช้ปัญญาในทางที่ถูกที่ควร