ในแต่ละปีปัญหาที่ประชาชนใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลและเปิดใช้อินเตอร์เน็ต หรือ "ดาต้าโรมมิ่ง" ระหว่างเดินทางไปต่างประเทศ มักเกิดปัญหาตามมาจากการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกินจริงจากค่ายผู้ให้บริการ ขณะเดียวกันวันนี้ (3 พ.ค.) ก็ได้มีตัวอย่างปัญหาจากการรับเรื่องร้องเรียนจาก กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมุมของค่ายผู้ให้บริการเกี่ยวกับวิธีการแก้ปัญหา
นายไกรวัลย์ คทวนิช ปฎิเสธจ่ายค่าโรมมิ่ง 60,000 บาท จากการใช้บริการอินเตอร์เน็ตข้ามแดน หรือ ดาต้าโรมมิ่ง เพื่อใช้บริการที่ประเทศลาว เพราะเห็นว่า ค่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือไม่ได้คิดอัตราค่าบริการตามที่ได้โฆษณาไว้ โดยที่ระบุว่า จะคิดค่าบริการตามตามอัตราการใช้จริง แต่กลับคิดค่าบริการในอัตรารายชั่วโมงแทน
นอกจากนี้ยังมีผู้บริโภคอีกราย ที่เดินทางไปประเทศเกาหลี รวม 7 วัน ใช้โปรโมชั่น Unlimited 5 วัน 1,400 บาท บวกกับโปรโมชั่นเสริม 2 วันที่เหลือ รวม600 บาท แต่เมื่อเข้าสู่วันที่ 5 กลับได้รับแจ้งว่ามีค่าใช้บริการสูงถึง 50,000 บาท จึงแจ้งยุติการใช้บริการและปิดเครื่องโทรศัพท์ แต่เมื่อกลับมาถึงไทย ก็พบว่าถูกเรียกเก็บมากกว่า 200,000 บาท
ส่วนอีกราย ถูกเรียกเก็บค่าใช้โรมมิ่งกว่า 57,000 บาท แต่ค่ายมือถือแจ้งว่า จะลดค่าใช้บริการให้ครึ่งหนึ่ง แต่ผู้ร้องเห็นว่าไม่เป็นธรรม เนื่องจากไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ และไม่ได้เปิดใช้ data roaming ทั้ง 3 กรณี นับเป็นตัวอย่าง 1ใน 118 ราย ที่ กสทช.ได้รับเรื่องไว้ตรวจสอบ
จากการเก็บสถิติเรื่องร้องเรียนเฉพาะปัญหาโรมมิ่งตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา พบว่าทุกปี มีผู้บริโภคร้องเรียนเพิ่มมากขึ้นเท่าตัว โดยและตั้งแต่ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (2555) มีการร้องเรียนรวม 17 ราย ซึ่งตลอด 4 ปี มีการเก็บค่าบริการโรมมิ่งถึง 4,400,000 บาท และหากแยกตามค่ายผู้ให้บริการที่ถูกต้องเรียน พบว่า ค่ายมือถือ "เอไอเอส" ถูกร้องเรียนมากที่สุด ขณะที่มีผู้ใช้บริการโรมมิ่งของ "บริษัท ทรูมูฟ จำกัด" ถูกเรียกเก็บค่าบริการสูงสุดเกือบ 300,000 บาท ซึ่งปัญหาทั้งหมดทาง กสทช.ที่กำกับดูแลเห็นว่า จำเป็นต้องทำความเข้าใจกันอย่างจริงจัง
ปัญหาโรมมิ่ง เกิดทั้งจากฝ่ายผู้ใช้บริการที่ไม่เข้าใจรายละเอียดและเครื่องที่นำไปใช้ ขณะที่ค่ายมือถือก็แจ้งเตือนการใช้บริการล่าช้า และไม่เร่งแก้ปัญหา
ในเร็ว ๆ นี้ มีความเป็นไปได้ที่ กสทช. และค่ายมือถือจะหารือกันอย่างจริงจังในการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาโรมมิ่ง รวมถึงจะต้องจับมือกับผู้ดูแลด้านการสื่อสารของประเทศนั้น ๆ เพื่อพัฒนาระบบทางเทคโนโลยีในการดูแลผู้บริโภคไม่ให้เกิดปัญหาจากการใช้บริการต่างแดน เพราะระบบการสื่อสารปัจจุบันนับเป็นหัวใจสำคัญของทุกคน ควบคู่กับการได้รับบริการที่เป็นธรรมเช่นกัน