จี้ผู้ส่งออกปรับ “อาหารฮาลาล” ให้เข้าไลฟ์สไตล์ในยุโรปที่มีชาวมุสลิมติด 1 ใน 4 ของโลก
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยภายใต้ยุทธศาสตร์”ครัวไทยสู่ครัวโลก”เพื่อเพิ่มการส่งเสริมและพัฒนาช่องทางการตลาดใหม่ๆ ตลอดจนสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับประเทศคู่ค้า ภายใต้นโยบายรมช.ภูมิ สารผลว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมันถึงตลาดอาหารฮาลาลในเยอรมนีและสหภาพยุโรป(อียู)ว่า ประชากรชาวมุสลิมทั่วโลกมีจำนวนกว่า 1,565 ล้านคน (1 ใน 4 ของประชากรโลกทั้งหมด) โดยทวีปยุโรปมีชาวมุสลิมมากเป็นอันดับที่ 3 หรือมีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 56 ล้านคน รองมาจากทวีปเอเชีย 1,061 ล้านคน และทวีปแอฟริกา 443 ล้านคน และมีแนวโน้มว่าแต่ละปีการบริโภคสินค้าอาหารฮาลาลจะขยายตัวสูง ส่งผลให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“อาหารฮาลาลมีขั้นตอนขบวนการผลิตที่เน้นเรื่องความสะอาด โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตที่ปลอดภัย ถูกสุขอนามัย และถูกต้องตามบทบัญญัติทางศาสนาอิสลาม แม้ผู้บริโภคที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม แต่ให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ จึงทำให้อาหารฮาลาลเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย”นางนันทวัลย์ กล่าว และว่า พฤติกรรมผู้บริโภคให้ความสำคัญเกี่ยวกับการบริโภคอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเน้นเรื่องคุณค่าทางโภชนาการและความปลอดภัยเป็นหลัก ต้องไม่มีสารพิษตกค้าง สารปรุงแต่งในอาหาร รวมทั้งนิยมการทำอาหารง่ายๆ ไม่ซับซ้อน พร้อมกับการซื้อวัตถุดิบ เครื่องปรุงที่หาได้ในท้องตลาดโดยทั่วไป โดยมีจำนวนประชากรที่บริโภคอาหารสดที่ปรุงเองเพิ่มมากขึ้น
ในยุโรปตะวันตก มีการจำหน่ายอาหารฮาลาลให้แก่ชาวมุสลิม จำนวนประมาณ 30 ล้านคน มียอดจำหน่ายเฉพาะสินค้าอาหารฮาลาลคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้นมากกว่า 45,000 ล้านเหรียญยูโรต่อปีและมีอัตราขยายตัวที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมก็มีความนิยมอาหารฮาลาลเพิ่มมากขึ้น เพราะจัดเป็นไลฟ์สไตล์ในการดำรงชีวิตตามปกติ จึงเป็นการสร้างโอกาสทางการค้าและการขยายตัวของธุรกิจสินค้าอาหารฮาลาลต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ประเทศไทยได้ชื่อว่า เป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่และสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลนั้น ประชากรชาวมุสลิมยังนิยมนำเข้าสินค้าจากประเทศในกลุ่มมุสลิมด้วยกันเอง ประเทศอินโดนีเชียและมาเลเซียจัดเป็นประเทศคู่แข่งสำคัญจากทวีปเอเชีย ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้นำเข้าและผู้บริโภคชาวมุสลิม รวมถึงการประชาสัมพันธ์ความหลากหลายของสินค้าอาหาร ฮาลาลไทยอย่างต่อเนื่อง
“ตลาดสินค้าอาหารฮาลาลของไทยในประเทศเยอรมนี ยังมีแนวโน้มที่สดใส เพราะตลาดเยอรมนีเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรชาวมุสลิมจำนวนมากกว่า 4 ล้านคนอาศัยและตั้งถิ่นฐานอยู่มากเป็นอันดับที่ 2 ของอียู รองจากฝรั่งเศส สินค้าอาหารฮาลาลของไทยประเภทพร้อมรับประทาน(Ready to Eat) ยังมีแนวโน้มที่สดใส แต่ผู้ประกอบการไทยจะต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์ พัฒนาขบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการปรับรสชาติอาหารให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคให้มากขึ้นต่อไป”นางนันทวัลย์ กล่าว
นอกจากนี้ชาวเยอรมันและยุโรปให้ความใส่ใจกับสินค้าเกษตรอินทรีย์(Bio)เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสินค้าอาหารฮาลาลที่เป็นเกษตรอินทรีย์ด้วย ดังนั้นผู้ผลิต/ส่งออกไทยจะต้องให้ความสนใจการผลิตสินค้าอาหารฮาลาลแบบเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น การต่ออายุการใช้ตราฮาลาลเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้การส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลของไทย ได้รับความเชื่อถือและสร้างความมั่นใจในสินค้าจากประเทศไทยได้ และต้องให้ความสำคัญต่อการสร้างแบรนด์สินค้า เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด
นางนันทวัลย์ กล่าวถึงอุปสรรคทางด้านโลจิสติกส์ว่า ผู้ประกอบการไทยยังไม่มีศูนย์กระจายสินค้าในต่างประเทศที่จะคอยช่วยอำนวยความสะดวก ความปลอดภัยและความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้า รวมถึงปัญหาเรื่องอัตราค่าระวางการขนส่งทางเรือที่เพิ่มสูงขึ้น และมีจำนวนเรือขนส่งสินค้าที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณารวมตัวกันเป็นคัสเตอร์ เพื่อจะได้มีอำนาจต่อรองทางการค้าเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งสามารถลดต้นทุนการผลิตให้กับสินค้าไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้อีกด้วย
กรณีการติดเครื่องหมายฮาลาล ต้องศึกษาว่า สินค้าใดที่ไม่จำเป็นต้องติดเครื่องหมาย เพราะจะทำให้ผู้บริโภคสเกิดความสับสนได้ว่า สินค้าของไทยเหล่านั้น มีส่วนผสมของต้องห้ามหรืออย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ผลไม้กระป๋อง หากติดตราฮาลาล จะทำให้ชาวมุสลิมทั่วโลกสับสนได้ว่า โดยปกติสินค้าผลไม้กระป๋องของไทย มีขบวนการผลิตที่ปนเปื้อนแอลกอฮอล์ หรือ น้ำมันจากสัตว์ต้องห้าม เช่น สุกรหรืออย่างไร ผู้ประกอบการไทย จึงต้องพิจารณาการติดตราสินค้าอาหารฮาลาลให้เหมาะสมกับความจำเป็น