สำรวจตลาดตรวจสอบข้อเท็จจริงของแพง
หากสำรวจความแตกต่างของต้นทุนราคาสินค้าอุปโภค - บริโภค ด้านหนึ่งจะเห็นราคาสินค้าที่แนะนำโดยกรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์ และอีกด้านหนึ่ง คือราคาในชีวิตจริงที่ประชาชนต้องใช้จ่าย เช่น ราคาหมูเนื้อแดง แนะนำให้ขายที่ กิโลกรัมละ 123 บาท แต่ราคาที่ต้องจ่ายเงินซื้อ คือ กิโลกรัมละ 135-140 บาท,ผักกาดขาว กิโลกรัมละ 32 บาท ราคาที่ต้องซื้อ คือ กิโลกรัมละ 50 บาท มีส่วนต่างเกือบ 20 บาทต่อกิโลกรัม,คะน้า กิโลกรัมละ 32 บาท แต่ราคาในตลาดทั่วไปเฉลี่ยกิโลกรัมละ 50-55 บาท
ตัวอย่างราคาทั้งหมดนี้ แม้เป็นเพียงการสุ่มจากตลาดย่านเตาปูน แต่การสำรวจของไทยพีบีเอส พบว่า ตลาดอีกแห่งมีราคาสินค้าเฉลี่ยที่แพงขึ้น และมีส่วนต่างมากกว่าราคาแนะนำของกรมการค้าภายใน แต่สินค้าบางชนิดก็ไม่มีราคากำหนดไว้
ผู้บริโภคบางราย กล่าวว่า หากวันนี้เขามีเงินใช้จ่าย 1,000 บาท จะสามารถซื้อสินค้าได้จำนวนลดลง ต่างจากหลายเดือนก่อน ที่เงินจำนวนเดียวกัน อาจได้สินค้ามากขึ้น และอาจแบ่งเงินที่เหลือไปเป็นค่าใช้จ่ายในความจำเป็นอื่น ๆ ซึ่งอยากให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้า
ไม่ต่างจากราคาอาหารสำเร็จรูปที่ปรับเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยว แกงเขียวหวาน มีเพียงบางชนิดเท่านั้นที่ราคาลดลง ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้กรมการค้าภายในจะออกคำแนะนำราคาอาหารบางรายการ แต่หลายร้านก็ไม่ได้ปฏิบัติตาม
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังยืนว่า อัตราเงินเฟ้อไม่ได้บิดเบือนเรื่องตัวเลขราคาสินค้าที่นำมาคำนวณ
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ราคาสินค้าในตลาดสดที่ไม่ตรงกับราคาจัดทำดัชนีชี้วัดราคาทั่วไป เนื่องจากกระทรวงใช้ฐานเฉลี่ยทั่วประเทศ ดังนั้นราคาสินค้ารายวันในแต่ละตลาด จึงไม่สามารถจะตรงกันได้
โดยกระทรวงพาณิชย์ รายงานตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 2.74 จากการสำรวจราคาสินค้าพื้นฐานกว่า 60,000 รายการ ต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี 5 เดือน
แม้รัฐบาลจะยืนยันว่า สินค้าราคาถูกลงแต่ในสัปดาห์หน้า คณะรัฐมนตรีจะประชุมหายุทธศาสตร์ดูแลราคาสินค้า โดยกระทรวงพาณิชย์จะติดตามโครงสร้างราคาต้นทุนสินค้า ซึ่งสะท้อนว่า รัฐบาลก็เห็นเช่นกันว่าราคาสินค้ายังคงมีปัญหา