ญี่ปุ่นปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แห่งสุดท้าย
ญี่ปุ่นเริ่มกระบวนการปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แห่งสุดท้าย เพื่อซ่อมบำรุง ทำให้ญี่ปุ่นไม่มีไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานนิวเคลียร์เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ขณะที่ชาวญี่ปุ่นหลายพันคนใช้โอกาสนี้ประท้วงต่อต้านนิวเคลียร์
ชาวญี่ปุ่นราว 5,500 คนออกมาเดินขบวนในกรุงโตเกียวเพื่อประท้วงต่อต้านนิวเคลียร์ ในวันที่รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มกระบวนการปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 3 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โทโมริบนเกาะฮ็อกไกโดทางตอนเหนือของประเทศ
หลังจากเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ทางการญี่ปุ่นได้สั่งปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งมีอยู่ 50 แห่งทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยและซ่อมบำรุง ว่าสามารถรองรับเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ และปัจจุบันยังไม่มีแห่งใดกลับมาเดินเครื่องทำงานอีกครั้ง โดยเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่โรงงานโทโมริเป็นเตาปฏิกรณ์แห่งสุดท้ายที่ยังคงทำงานอยู่ ดังนั้นนี่เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปีที่ญี่ปุ่นไม่ได้ใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยก่อนที่จะเกิดภัยพิบัติญี่ปุ่นต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าราว 1 ใน 3 ของทั้งหมด
โดยขณะนี้บริษัทฮ็อกไกโดอิเล็กทริกพาวเวอร์ ซึ่งดูแลโรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้สอดแท่งควบคุมเมื่อเวลา 17.00 น. ซึ่งจะช่วยชะลอการเกิดปฏิกริยาลูกโซ่ จากนั้นจะนำไปสู่การปิดโรงไฟฟ้าโดยสามารถควบคุมอุณหภูมิ หรือที่เรียกว่า "โคลด์ ชัทดาวน์" ได้ในวันจันทร์นี้
ขณะนี้ได้มีการกลับมาพูดคุยกันถึงความจำเป็นของพลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นอีกครั้ง โดยกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านนิวเคลียร์ต้องให้สภาวะที่ญี่ปุ่นไม่ต้องพิ่งพิงพลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้าคงอยู่ต่อไป เนื่องจากหวั่นเกรงอันตรายจากนิวเคลียร์ ขณะที่ประชาชนบางส่วนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องการให้มีการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าอีกครั้งเพราะจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่น และช่วยสร้างงาน
เมื่อเดือนที่แล้ว บริษัทคันไซอิเล็กทริกพาวเวอร์ ซึ่งผลิตไฟฟ้าป้อนให้แก่ภูมิภาคตะวันตกตอนกลางของญี่ปุ่น รวมทั้งเมืองที่เป็นศูนย์กลางการค้าต่างๆเช่น โอซาก้า เกียวโต และโกเบ คาดว่าในช่วงหน้าร้อนกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้อาจจะต่ำกว่าปริมาณที่ต้องการเกือบร้อยละ 20