เพาะพันธุ์กล้านักวิทย์รุ่นใหม่ ให้ “คิด-เรียนรู้ อยู่กับธรรมชาติ”

15 พ.ค. 55
08:58
29
Logo Thai PBS
เพาะพันธุ์กล้านักวิทย์รุ่นใหม่   ให้ “คิด-เรียนรู้ อยู่กับธรรมชาติ”

ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติมหาอุทกภัยครั้งใหญ่มาไม่นาน และยังได้ตื่นตระหนกกับข่าวคราวเกี่ยวกับภัยธรรมชาติอยู่เนื่องๆ รวมทั้งปัญหาโลกร้อน ส่งผลให้ทุกภาคส่วนได้ให้ความสนใจและหาหนทางในการคิดและเรียนรู้อยู่กับธรรมชาติอย่างเหมาะสมและยั่งยืนมากขึ้น

 การจัดงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชนครั้งที่ 7 “คิด-เรียนรู้ อยู่กับธรรมชาติ”  โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) วิทยาศาสตร์นั้นจัดได้ว่า เป็นรากฐานของเทคโนโลยี ของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม  และนวิทยาศาสตร์เป็นรากฐานของการใช้ชีวิต

หัวใจสำคัญของงานนี้คือเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยที่มีใจรักในวิทยาศาสตร์ ได้เผยแพร่แนวคิดและผลงานทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ตลอดจนเป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิทยาศาสตร์รุ่นพี่ และเยาวชนวิทย์รุ่นน้อง เพื่อต่อยอดความคิดและสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อวิถีชีวิตมนุษย์ ธรรมชาติและสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคต 

 
ที่สำคัญ หัวข้อการจัดงานในปีนี้ เน้นการให้ “เยาวชนได้คิด-เรียนรู้ อยู่กับธรรมชาติ” เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติ รวมถึงเชื่อมโยงความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อตอบโจทย์การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างยั่งยืน
           
การนำเสนอโครงงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในแบบบรรยายและโปสเตอร์  รวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยต่าง ๆ มีการนำเสนอที่หลากหลายมากกว่า  200  โครงงาน เช่น การวิเคราะห์ตัวแบบทางคณิตศาสตร์ของระบบภูมิคุ้มกันที่มีผลต่อการตอบสนองของเซลล์เนื้องอก  การเปรียบเทียบวิธีการทางสถิติและการโปรแกรมเชิงเป้าหมายสำหรับจำแนกกลุ่มกำไรขาดทุนของสหกรณ์การเกษตร  ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในสารสกัดเอทานอลของเห็ดผสมสามชนิด   การเพิ่มประสิทธิภาพการสังเคราะห์์ด้วยแสงและการงอกของละอองเรณูของข้าว (Oryza sativa L.) โดยการใช้สารบราสสิโนสเตียรอยด์์ภายใต้ภาวะเครียดจากความร้อน   การใช้ฟิล์มพลาสติกนาโนคอมโพสิตเพื่อยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยวของผลกล้วยหอมทอง  . การย่อยสลายน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วโดย Nostoc hatei TISTR 8405   การใช้ไคโตซานและบรรจุภัณฑ์พอลิโพรพิลีนในการยืดอายุการเก็บรักษามะนาว (Citrus aurantifolia Swingle) ภายหลังการเก็บเกี่ยวที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส . การสังเคราะห์อนุภาคนาโนคาร์บอนจากการสลายน้ำตาล    การศึกษาโครงสร้างทางธรณีวิทยาของแหล่งแร่ทอง บริเวณผนังด้านตะวันตก บ่อเหมืองเอ ที่ระดับอ้างอิงประมาณ 98 เมตร เหมืองแร่ทองคำชาตรี จังหวัดพิจิตร-เพชรบูรณ์   ฤทธิ์ต้านเจริญของเชื้อราบนแผ่นยางพาราดิบโดยสารสกัดจากธรรมชาติ 
 
ความพิเศษในการนำเสนอผลงานที่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา คือ จัดให้มีการบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นการฝึกทักษะการสื่อสารงานวิจัยเป็นภาษาต่างประเทศ รวมทั้งมีเยาวชน จากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เกาหลี และ เวียดนาม ให้ความสนใจเข้าร่วมนำเสนอโครงงานวิจัยด้วยเช่นกัน
            
สตังค์ หรือ พลเดช อนันชัย นักเรียนชั้น ม. 6 จากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย  เชียงราย (โรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค) เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมนำเสนอโครงงานวิจัย “การพัฒนาวิธีทางเคมีในการสังเคราะห์วัสดุที่สามารถเปลี่ยนความร้อนส่วนเกินเป็นไฟฟ้า” ซึ่งมีแรงบันดาลใจจากการได้รับโอกาสไปร่วมกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่เยอรมนีในฐานะทูตไบเออร์เพื่อสิ่งแวดล้อม การทำโครงงานวิจัยนี้ เป็นการออกแบบอุปกรณ์ในการดักจับพลังงานความร้อนส่วนเกินจากสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นพลังงานความร้อนจากร่างกายมนุษย์ พลังงานความร้อนที่เกิดจากเครื่องยนต์ หรือในโรงงานอุตสาหกรรม  เพื่อนำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า โดยใช้สารกึ่งตัวนำความร้อนเรียกว่า บิสมัธ เทลลูไรต์ ที่มีการพัฒนาให้มีอนุภาคในระดับนาโนเมตร และผ่านการสังเคราะห์ให้มีความบริสุทธิ์มากกว่า 70 เปอร์เซนต์ เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการดักจับความร้อนได้มากขึ้น ถึงแม้ขณะนี้จะสามารถดักจับความร้อนได้เพียง 3 เปอร์เซนต์ ก็จะยังคงเดินหน้าพัฒนาโครงงานวิจัยนี้ต่อไป เนื่องจากมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้สำเร็จ
            
นายกิตติ บุญเพิ่ม และนายภัทร โคมกระจ่าง สาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาระบบตรวจวินิจฉัยเพื่อคัดกรองการเกิดดาวน์ซินโดรมของทารกในครรภ์” มาจัดแสดง ซึ่งเป็นผลงานความร่วมมือระหว่างศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(TCELS) สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์เทคโนโลยี อิเลคทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) หลักการ คือ ใช้วิธีเจาะเลือดมารดาที่ตั้งครรภ์เพื่อนำมาวัดค่าความผิดปกติของสารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ AFP estriol  และ HCG  ซึ่งผลที่ได้จะเป็นประโยชน์ในการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมเบื้องต้น หากพบความผิดปกติ จึงใช้วิธีเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจโครโมโซมอีกครั้งหนึ่ง 
 
“วิธีการนี้จะช่วยให้สามารถคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมของทารกในครรภ์ได้มากขึ้น เพราะมีค่าใช้จ่ายในการตรวจวัดที่ถูกกว่า และช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากวิธีตรวจวัดโครโมโซม เพราะวิธีดังกล่าวอาจทำให้แท้งบุตรได้  โดยพวกเรามีความตั้งใจอย่างมากที่จะทำงานวิจัยนี้ให้สำเร็จ เพราะนั่นหมายความว่า จะมีการผลิตและนำส่งเครื่องมือดังกล่าวไปยังโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลในต่างจังหวัด ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้หญิงตั้งครรภ์ในต่างจังหวัดได้เข้าถึงบริการคัดกรองก่อนเจาะโครโมโซม ซึ่งช่วยลดภาวะดาวน์ซินโดรมของเด็กเกิดใหม่ในประเทศ”
            
ส่วนของภาคการเสวนาและบรรยายทางวิชาการ มีการนำเสนอหัวข้อที่น่าสนใจหลายเรื่อง อาทิ การเสวนาในหัวข้อ “บันไดสู่ดวงดาว...นักวิทย์” โดย นักวิทยาศาสตร์รุ่นพี่ซึ่งได้รับทุนพสวท. หรือโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ รศ.ดร. ยงยุทธ เหล่าศิริถาวร จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร. คัมภีร์ ค้าแหวน จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ดร.เฉลิมพล กาญจนวรินทร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และดร.คัมภีร์ พรหมพราย จากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันถอดบทเรียนถึงรุ่นน้องที่ต้องการก้าวสู่เส้นทางสายวิทย์ว่า “การเป็นนักวิทยาศาสตร์ ต้องเริ่มจากการรักความเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งหมายถึง การรักในการสังเกต เรียนรู้ วิเคราะห์ และสังเคราะห์ เมื่อเจอปัญหาแล้วต้องสู้ไม่ปล่อยจนกว่าจะได้คำตอบ และสำคัญที่สุดคือ ต้องมีจริยธรรม นักวิทยาศาสตร์ที่ดีต้องไม่อยู่เพื่อตัวเอง แต่ต้องอยู่เพื่อคนอื่น เพราะการคิดเพื่อคนอื่นจะเป็นสิ่งกระตุ้นให้เราขับเคลื่อนงานด้านวิทยาศาสตร์ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง”
            
การนำเสนอมุมมองของนักวิชาการจากวงเสวนา “เอาอยู่ เมื่อรู้ธรรมชาติ” โดย รศ.ดร. กัมปนาท ภักดีกุล จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร.ศ.ดร. วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร. วัฒนา กันบัว จากศูนย์อุตุนิยมวิทยาทะเล สำนักตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องถึงรูปแบบของภัยพิบัติน้ำท่วม แผ่นดินไหว และสึนามิ และความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย  รวมทั้งให้ความมั่นใจว่า คนไทยสามารถรับมือกับธรรมชาติได้แน่ ตราบใดที่ไม่ตื่นตระหนก และพยายามเปิดรับข้อมูลและปฏิบัติตามข้อแนะนำที่ถูกต้องจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้
 
ส่วนการบรรยายในหัวข้อ “ไขปริศนาโลกาวินาศ 2012 โลกแตกจริง หรือแค่กระแสตื่นตูม” โดย ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งได้ใช้หลักวิชาทางวิทยาศาสตร์ในการไขข้อข้องใจถึงกระแสเล่าลือเรื่องวันสิ้นโลก ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวถึงปฏิทินของชนเผ่ามายัน การเกิดพายุสุริยะ การเกิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้า หรือดาวเคราะห์พุ่งชนโลก เป็นต้น โดยแนะคนไทยให้ตื่นรู้แทนการตื่นตูม ด้วยการใช้หลักวิทยาศาสตร์ในการค้นคว้าคำตอบ เพราะวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของการให้เหตุและผล และต้องมีหลักฐานประกอบการอธิบาย และภาคกิจกรรมการแข่งขันประลองความคิดทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้รับความสนใจจาก นักเรียน นิสิต นักศึกษา นักวิชาการ  และประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมงานอย่างมากมาย อาทิ กิจกรรมการประดิษฐ์กังหันพลังงานลม กิจกรรม “Nightmare Science Math Rally” เพื่อเปิดให้โอกาสให้น้อง ๆ ได้แข่งขันแก้ปัญหาโดยอาศัยหลักทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
 
ไฮไลท์อีกหนึ่งกิจกรรม คือ การจำลองการแข่งขัน “มินิวิทยสัประยุทธ์” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยในปีนี้ได้ตั้งโจทย์ให้น้อง ๆ แข่งขัน “ประดิษฐ์เครื่องยิงลูกบอล” ไปยังตำแหน่งเป้าหมาย และเพิ่มความท้าทายให้ต้องออกแบบอุปกรณ์หน่วงเวลา เพื่อให้เครื่องสามารถยิงลูกบอลได้ตามระยะเวลาที่กำหนดอีกด้วย วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้น้อง ๆ ได้ผสมผสานทั้งทักษะทางคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ในการคิดค้นคำตอบ เช่น การปรับแต่งลูกบอลเพื่อเพิ่มน้ำหนักและแรงต้าน การคำนวณองศาของการยิง การคำนวณระยะทางและแรงส่ง การใช้กลไกแรงเสียดทานเพื่อเพิ่มการหน่วงเวลา ซึ่งจบลงด้วยการที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี 2) คว้าแชมป์การแข่งขันมินิวิทยสับประยุทธ์ในปีนี้ไปครอง
 
สำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษา ฮังซุง ไซเอนซ์  จากประเทศเกาหลีใต้ และโรงเรียนมัธยมศึกษา  เดว ดัง ตุ จากประเทศเวียดนาม ซึ่งได้เข้าร่วมงาน วทท. เพื่อเยาวชน ครั้งที่ 7  โดยได้นำเสนอผลงานวิจัยของนักเรียน และเข้าร่วมกิจกรรมมินิวิทยสัประยุทธ์   โดยอาจารย์ ชอย  บุง ชุน  โรงเรียน ฮังซุง ไซเอนซ์ กล่าวว่า  ประทับใจกับผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ของเยาวชนไทยมาก เป็นงานที่สามารถทำให้เกิดแรงบันดาลใจทางด้านวิทยาศาสตร์  สำหรับวันนี้เราได้นำนักเรียนมานำเสนอผลงานวิจัยแบบโปสเตอร์ในสาขาวิชาชีววิทยาในด้านการสกัดสารจากใบแปะก๊วย  และเข้าร่วมแข่งขันมินิวิทยสัประยุทธ์  ทำให้ได้รับประสบการณ์และแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์กับโรงเรียนต่างๆ
 
อาจารย์ เนียน ที เบียน เดียบ โรงเรียนมัธยมศึกษา เดว ดัง ตุ จากประเทศเวียดนาม  กล่าวว่า ได้มาร่วมกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก  ตื่นเต้นและประทับใจอย่างมากกับผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ของเยาวชนไทย โดยเราได้นำผลงานวิจัยแบบโปสเตอร์ในสาขาวิชาฟิสิกส์ เรื่อง การประหยัดพลังงาน โดยการทำโคมไฟอย่างง่ายจากกล่องไอศกรีม  พร้อมทั้งได้เข้าร่วมการแข่งขันมินิวิทยสัประยุทธ์กับโรงเรียนต่างๆในประเทศไทย ทำให้ได้ประสบการณ์อย่างมาก
 
 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง