หนี้เสียเกือบ 10 ล้าน หลังใช้บัตรเครดิตพลังงานเอ็นจีวี 5 เดือน

เศรษฐกิจ
17 พ.ค. 55
15:00
9
Logo Thai PBS
หนี้เสียเกือบ 10 ล้าน หลังใช้บัตรเครดิตพลังงานเอ็นจีวี 5 เดือน

5 เดือนของการเปิดใช้ บัตรเครดิตพลังงานเอ็นจีวี สำหรับผู้ขับแท็กซี่ พบว่า ไม่ค่อยจะเป็นไปตามนโยบายของรัฐที่ต้องการบรรเทาความเดือนของกลุ่มแท็กซี่ จากราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น แต่ขณะนี้พบว่า ผู้ถือบัตรส่วนใหญ่เลิกใช้ เพราะถูกตัดสิทธิ์จากการที่ไม่ชำระหนี้ และ ถึงขณะนี้มีหนี้เสียจากบัตรเครดิตพลังงานแล้วเกือบ 10 ล้านบาท

ปั๊มก๊าซแห่งนี้มีผู้ขับแท็กซี่มารูดบัตรเครดิตเอ็นจีวีในวันนี้ ( 17 พ.ย.)  เพียง 8 ใบ ต่างจากก่อนหน้านี้ ที่บางวันมีผู้นำบัตรมาใช้ชำระค่าก๊าซเกือบ 70 ใบ ผู้ขับแท็กซี่บางส่วนบอกว่า เคยทดลองใช้บัตรมาแล้ว แต่ไม่สะดวกที่ต้องชำระเงินที่ธนาคารตามกำหนดของรอบบิล จึงถูกตัดสิทธิ์ไป ขณะที่บางคนมีบัตรแต่ยังไม่เคยใช้ ต่างจากยอดการใช้บัตรเติมก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งเป็นบัตรส่วนลดราคาก๊าซกิโลกรัมละ 2 บาท ที่มียอดการใช้วันเดียวกันถึง 448 ใบ เพราะใช้ง่ายกว่า และไม่ต้องรวบรวมเงินไปจ่ายให้ธนาคารคราวละมาก ๆ

บัตรเครดิตพลังงานเอ็นจีวี เป็นนโยบายประชานิยมของพรรคเพื่อไทย และ เปิดตัวขณะที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยให้บริษัท ปตท. เป็นกลไกจัดทำบัตรเครดิตพลังงาน เพื่อให้เครดิตเติมก๊าซ และ มีส่วนลดเอ็นจีวี 2 บาทต่อกิโลกรัมวงเงิน 3,000 บาทต่อเดือน และ ส่วนลดแบบจ่ายเป็นเงินสดอีก 6,000 บาท รวมส่วนลด 9,000 บาทต่อเดือน

โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้สมัคร 36,000 คน และผู้ถือบัตร 27,000 ใบ จากเป้าหมายที่จะให้ผู้ใช้บัตร 75,000 คน และมีรายงานว่าร้อยละ 85 ของผู้ใช้ถูกตัดสิทธิ์ หลังไม่ได้ติดต่อชำระหนี้กับธนาคาร คิดเป็นหนี้เสีย ณ สิ้นเดือนเมษายนกว่า 8 ล้านบาท  และยังไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ

ขณะที่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แสดงความเห็นในเวปไซต์เฟซบุ๊กว่า หากได้ทำความเข้าใจให้ดีว่า ถ้าค้างชำระเงินค้างในบัตรเครดิต 2 เดือนจะถูกตัดสิทธิ์ ซึ่งประหยัดได้ปีละ 12,000-15,000 บาท อย่างน้อย 3 ปี เชื่อว่า แท็กซี่จะต้องรักษาสิทธิ์เอาไว้

ส่วนกระทรวงพลังงาน ยังยืนยันว่า สถานะการดำเนินงานของบัตรเครดิตปัจจุบันอยู่ในระดับที่ดี และภาระหนี้เสียมีแนวโน้มลดลง และหนี้ค้างชำระสะสมคงที่และเตรียมปรับปรุงระบบและยกระดับสิทธิประโยชน์แก่ผู้ถือบัตรโดยไม่มีแนวคิดจะยกเลิก ซึ่งสวนทางกับตัวแทนสหกรณ์แท็กซี่ที่ระบุว่า ไม่เห็นด้วยตั้งแต่เริ่มโครงการ ซึ่งความนิยมใช้ที่ลดลงชี้ให้เห็นว่า ควรยกเลิกบัตรเครดิตพลังงาน

อีกด้านหนึ่งมีข้อเสนอให้บัตรเครดิตพลังงานกลายเป็นส่วนหนึ่งของบัตรเครดิตชาวนาที่กระทรวงการคลังกำลังผลักดันให้ เชื่อมโยงสิทธิประโยชน์ระหว่างคนขับกับเกษตรกรที่น่าจะเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน หรือ ให้กลายเป็นบัตรกดเงินสดแทน จึงน่าสนใจว่าสุดท้ายจะมีข้อสรุปอย่างไร 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง