ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ภาคอุตสาหกรรมการผลิต จะขาดแคลนแรงงาน ผลกระทบจากสังคมสูงอายุ

สังคม
18 พ.ค. 55
13:30
36
Logo Thai PBS
ภาคอุตสาหกรรมการผลิต จะขาดแคลนแรงงาน ผลกระทบจากสังคมสูงอายุ

 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ศึกษาวิจัยว่า  ความไม่สอดคล้องของกำลังแรงงานและคุณภาพการศึกษากับความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นปัญหาใหญ่ที่ปรากฏชัดจนนำมาสู่การปฎิรูปการศึกษาอีกครั้งในปัจจุบัน  นอกจากนั้นแล้วโครงสร้างประชากร อายุ การศึกษา เพศ และภูมิลำเนาและการเปลี่ยนแปลงลักษณะต่างๆดังกล่าวก็มีผลอย่างสำคัญต่อกำหนดนโยบายหรือการวางแผนการใช้กำลังคนที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ ทีดีอาร์ไอได้วิเคราะห์ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรกับประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานภาคอุตสาหกรรมพบว่าลักษณะทางประชากรของแรงงานมีผลต่อประสิทธิภาพการผลิตอย่างมาก

 
สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ นักวิชาการอาวุโสและคณะ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย  ได้ทำการศึกษาดังกล่าวให้กับโครงการ การจัดทำฐานข้อมูลอุปสงค์อุปทานกำลังคนเพื่อรองรับการวางแผนพัฒนาภาคอุตสาหกรรม หรือโครงการ LEED-X+ ซึ่งสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษา สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดทำ  นำมาใช้วิเคราะห์สถานการณ์และพฤติกรรมของตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรม  
 
จากการวิเคราะห์ย้อนหลัง 20 ปี (2543-2553) พบว่า แรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากร (อายุ เพศ การศึกษา ฯลฯ) โดยในปี 2553  มีจำนวนแรงงานทั้งประเทศ 38.1 ล้านคน  เป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรมราว 7.8 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานในสาขาอุตสาหกรรมการผลิตจริง ๆ ราว 5.4 ล้านคน ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาต่าง ๆ  ได้แก่ การไฟฟ้า ก๊าซและการประปา,การก่อสร้าง,การทำเหมืองแร่และเหมืองหิน  การจ้างแรงงานภาคอุตสาหกรรมในอดีตใช้แรงงานที่มีอายุฐานนิยม(อายุแรงงานส่วนใหญ่)ต่ำกว่าแรงงานในภาคเกษตรหรือภาคบริการ ในแง่ของเพศอุตสาหกรรมบางชนิดจะใช้แรงงานชายหญิงในสัดส่วนไม่เท่ากัน  ในขณะที่อุตสาหกรรมแต่ละชนิดใช้กำลังคนในการศึกษาระดับต่างๆ กัน  เช่นอุตสาหกรรมสิ่งทอหรือเครื่องนุ่งห่มจะใช้แรงงานระดับล่าง(มีการศึกษาน้อย)ในสัดส่วนที่มากกว่าอุตสาหกรรมอื่น  
 
ดร.สราวุธ กล่าวว่า โครงสร้างอายุแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเดิมเป็นแรงงานวัยหนุ่มสาว แต่ในระยะหลัง อายุแรงงานในภาคอุตสาหกรรมก็เริ่มสูงขึ้น  ซึ่งเป็นลักษณะของประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างประเทศไทยที่สัดส่วนประชากรวัยเด็กลดลงในขณะที่สัดส่วนประชากรวัยสูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลให้โครงสร้างอายุแรงงานในภาคอุตสาหกรรมจะเป็นแรงงานสูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
 
(จากข้อมูลในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา(2534-2553) มีสัดส่วนของแรงงานผู้เยาว์ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากประมาณร้อยละ55 ในปี 2534 เป็นร้อยละ 20.7 ในปี 2553 ในขณะที่แรงงานผู้สูงอายุ เพิ่มจากประมาณร้อยละ 12 เป็นประมาณร้อยละ 20 หรือเกือบเท่าตัว  สาเหตุมาจากอัตราเกิดลดลงและการขยายการศึกษาทำให้ประชากรวัยรุ่นเข้าสู่ตลาดลดลงโดยทั่วไป (มิใช่แต่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น)  ทำให้สัดส่วนของแรงงานผู้ใหญ่และผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น  ข้อมูลผลสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากร พบว่าระหว่างปี 2547 และ ปี 2553 อายุเฉลี่ยของแรงงานภาคอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 27 ปี เป็น ประมาณ 32 ปี)
 
จากการทดสอบทางสถิติพบว่าสัดส่วนของแรงงานสูงอายุที่เพิ่มขึ้นจะมีผลทางลบต่อประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานโดยเฉลี่ย ดังนั้นการเพิ่มอัตราการใช้แรงงานที่สูงอายุขึ้นจำเป็นต้องมีการพัฒนาแรงงานดังกล่าวมากขึ้นด้วย 
 
ด้านการศึกษา โครงสร้างการศึกษาของแรงงานภาคอุตสาหกรรมการผลิตดีกว่าโครงสร้างการศึกษาของแรงงานทั้งประเทศ โดยโครงสร้างของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตจำแนกตามการศึกษามีสัดส่วนแรงงานที่มีการศึกษาปานกลางและระดับสูงเพิ่มขึ้น   สัดส่วนแรงงานการศึกษาน้อยหรือระดับล่าง(มัธยมต้นหรือต่ำกว่า) ลดลงจากประมาณร้อยละ 86 ในปี 2534 เหลือร้อยละ 68 ในปี 2553   แรงงานระดับกลาง(มัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า)เพิ่มจากประมาณร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 17.4 และแรงงานระดับสูง(ตั้งแต่อนุปริญญาขึ้นไป) เพิ่มจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 14    ขณะเดียวกันกำลังแรงงานระดับล่างซึ่งจะมีผู้สำเร็จการศึกษาที่จะเข้ามาเติมปีละไม่ถึงแสนคนก็ยังไม่เพียงพอเพราะมีอัตราการเรียนต่อสูง และในแต่ละปีตลาดแรงงานจะสูญเสียกำลังแรงงานไปด้วยสาเหตุต่าง ๆ ทั้งการเสียชีวิตและเกษียณอายุไม่ต่ำกว่า 4 แสนคน  ทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่จะขาดแคลนแรงงานระดับล่าง ในขณะที่มีการผลิตแรงงานระดับปริญญาตรีออกมามากมายแต่มีปัญหาด้านคุณภาพไม่ได้รับคัดเลือกจากนายจ้าง จึงทำให้มีปัญหาว่างงานและขาดแคลนแรงงานไปพร้อมกัน  อย่างไรก็ตามผลการทดสอบทางสถิติระหว่างความสัมพันธ์ของระดับการศึกษาของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตกับประสิทธิภาพการผลิตยังไม่ชัดเจน
 
          ปัจจัยเรื่องเพศ  ประเทศไทยมีประชากรหญิงมากกว่าชาย โดยมีจำนวนประชากรหญิง 34.3 ล้านคนต่อประชากรชาย 33.1 ล้านคน  แต่ถ้าดูที่แรงงาน กลับมีแรงงานหญิงน้อยกว่าแรงงานชายเนื่องจากอัตราการเข้าร่วมแรงงาน (จำนวนแรงงาน/ประชากรในวัยแรงงาน) ของหญิงน้อยกว่าชาย คือประมาณ ร้อยละ 63.5 เทียบกับ 80.3 (เนื่องจากสตรีจำนวนไม่น้อยทำหน้าที่แม่บ้านโดยไม่ได้ออกหางานทำ) ทำให้สัดส่วนแรงงานหญิงต่อแรงงานชายประมาณ ร้อยละ 45.5 ต่อ  54.5  อย่างไรก็ตาม ในปี 2553  ในขณะที่โดยทั่วไปสัดส่วนแรงงานหญิงน้อยกว่าชาย  แต่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตกลับมีการจ้างงานแรงงานหญิงในสัดส่วนสูงกว่าชายเล็กน้อย (ร้อยละ 52 ต่อ ร้อยละ 48) ซึ่งในระยะยาวตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนเพศของแรงงานภาคอุตสาหกรรมการผลิตค่อนข้างคงที่  โดยสัดส่วนแรงงานหญิงเพิ่มขึ้นตั้งแต่ ปี 2545 เป็นต้นมา และลดลงเล็กน้อยช่วงปี 2552-2553 ทั้งนี้มีอุตสาหกรรมที่นิยมใช้แรงงานหญิง เช่น สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น  จากการทดสอบทางสถิติสัดส่วนของแรงงานหญิงในอุตสาหกรรมการผลิตมีผลดีต่อประสิทธิภาพการผลิตของแรงงาน
 
สำหรับภูมิลำเนาของแรงงาน  แรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเกินครึ่ง (ร้อยละ 62.8) อยู่ในชนบท (นอกเขตเทศบาล) แสดงว่าอุตสาหกรรมการผลิตมิได้กระจุกอยู่ในตัวเมือง และอุตสาหกรรมบางอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการผลิตอาหารจะอยู่ในนอกเขตเทศบาล โดยแนวโน้มในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนแรงงานภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่อยู่ในชนบทเพิ่มจากประมาณร้อยละ 44.0 ในปี 2534 เป็น ร้อยละ 62.8 ในปี 2553  จากการทดสอบทางสถิติพบว่าสัดส่วนของแรงงานอุตสาหกรรมการผลิตที่อยู่นอกเขตเทศบาลจะมีผลดีต่อประสิทธิภาพการผลิตของแรงงาน
 
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ผลการศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างทางประชากรของแรงงานมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตดังนั้นการเลือกใช้แรงงานในอายุ เพศ ระดับการศึกษาหรือภูมิลำเนาต่างๆจึงควรเป็นไปอย่างมีแบบแผน มิฉะนั้นจะมีผลเสียต่อประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิต ดังนั้นการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้จึงเป็นความสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
 
 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง