ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ม.หอการค้าไทย คาดชุมนุมยืดเยื้อกระทบจีดีพี 0.1-0.3%

เศรษฐกิจ
1 มิ.ย. 55
09:43
12
Logo Thai PBS
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ม.หอการค้าไทย คาดชุมนุมยืดเยื้อกระทบจีดีพี 0.1-0.3%

ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.ยหอการค้าไทย ระบุหากการชุมนุมยืดเยื้อถึง 1 เดือน อย่างสันติวิธี ไม่มีความรุนแรง ก็มีโอกาสทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวลดลงร้อยละ 0.1-0.3 หรือคิดเป็นมูลค่าที่หายไป 10,000-30,000 ล้านบาท

ผศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจกระทบกับระบบเศรษฐกิจว่า หากการชุมนุมยืดเยื้อถึง 1 เดือน แต่เป็นไปอย่างสันติวิธี ไม่มีความรุนแรง ซึ่งมีโอกาสทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวลดลงร้อยละ 0.1-0.3 หรือคิดเป็นมูลค่าที่หายไป 10,000-30,000 ล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้เติบโตระดับร้อยละ 5.5-5.9

ผศ.ธนวรรธน์ บอกอีกว่า หากการชุมนุมยืดเยื้อเกินกว่า 3 เดือนขึ้นไป และพัฒนาความรุนแรงจนถึงระดับปิดล้อมหรือทำลายศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ปิดล้อมการประชุมเศรษฐกิจระดับประเทศ หรือปิดล้อมสนามบิน ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นเพียงร้อยละ 25 จะกระทบเศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลงร้อยละ 0.5-0.7  หรือมูลค่าหายไป 60,000-100,000 ล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจในปีนี้ขยายตัวลดลงเหลือร้อยละ 5

ทั้งนี้จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชน ส่วนใหญ่เห็นว่าการเมืองปีนี้มีระดับความรุนแรงมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และเชี่อว่าในอนาคตจะได้รับผลกระทบทางลบของการเมือง ต่อการดำเนินชีวิต จึงต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเพื่อความปรองดอง และขอให้รัฐบาลเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเร่งรัดการใช้จ่ายของรัฐบาล แก้ปัญหาความไม่สงบทางการเมือง ลดความขัดแย้งของทุกฝ่าย

ขณะที่ นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจในเดือนเมษายน 2555 ปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม แต่ก็จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยด้านการเมือง ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่า จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนหรือไม่ โดยเฉพาะความยืดเยื้อหรือจะจบลงอย่างไร

ส่วนนายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยสายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองที่มีสัญญาณเริ่มเป็นประเด็นขึ้นมาในขณะนี้ กำลังเป็นปัจจัยที่ต้องจับตาดูต่อเนื่อง นอกเหนือจากปัญหาหนี้ในกลุ่มประเทศยุโรปที่ยังไม่มีความชัดเจน

หากสถานการณ์ทางการเมืองมีความร้อนแรงเหมือนหลายปีที่ผ่านมา จะยิ่งกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทย รวมถึงเป็นแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินการคลังในระยะต่อไปด้วยซึ่งสถานการณ์โดยรวมขณะนี้คล้ายปี 2551 ช่วงนั้นเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวและไทยมีเหตุการณ์การเมืองรุนแรงถึงปิดสนามบิน ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ไปไหน ขยายตัวแค่ร้อยละ 2.6 จึงต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ว่าจะมีความเสี่ยงซ้ำรอยปี 2551 หรือไม่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง