ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ครบรอบ 35 ปีบทเพลง God Save the Queen ท้าท้ายราชวงศ์วินเซอร์

Logo Thai PBS
ครบรอบ 35 ปีบทเพลง God Save the Queen ท้าท้ายราชวงศ์วินเซอร์

ช่วงเดียวกับงานเฉลิมฉลอง 60 ปีการครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ปีนี้ในวงการเพลงถือเป็นการครบรอบ 35 ปีของเพลง God Save the Queen ผลงานสุดอื้อฉาวของ Sex Pistols วงพังค์ที่ถูกจารึกเป็นกลุ่มศิลปินวงแรกที่ท้าทายอำนาจของราชวงค์วินเซอร์ผ่านบทเพลงที่กลายเป็นตำนานของวงการดนตรีพังค์ในวันนี้

ย้อนไปเมื่อปี 1977 ระหว่างที่ประเทศอังกฤษกำลังอยู่ในบรรยากาศพระราชพิธีรัชดาภิเษก หรืองานฉลองครองราชย์ครบรอบ 25 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 Sex Pistols วงพังค์หน้าใหม่ ตกเป็นข่าวพาดหัวทั่วเกาะอังกฤษ เมื่อซิงเกิลที่ 2 God Save the Queen ที่ชื่อไปพ้องกับเพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมีของสหราชอาณาจักร แต่หน้าปกจนถึงเนื้อหากลับแสดงความมุ่งร้ายต่อราชินีและชนชั้นปกครองของอังกฤษ ด้วยการเปรียบเปรยรัฐบาลยุคนั้นว่า เป็นเผด็จการฟาสซิสต์ และย้ำในเนื้อเพลงว่าชาวอังกฤษจะไร้อนาคตจากการปกครองเช่นนี้ 

เดิมอัลบั้ม God Save the Queen ใช้ชื่อว่า No Future ไม่ได้มีเจตนาต่อต้านงานพระราชพิธีรัชดาภิเษก แต่ค่ายเพลง Virgin ของ ริชาร์ด แบรนสัน เปลี่ยนชื่อเพลงเมื่อรู้ว่าวันออกจำหน่ายตรงกับพิธีสำคัญของราชวงศ์อังกฤษ โดยจัดงานปาร์ตี้ jubilee boat trip เพื่อโปรโมทเพลงด้วยการล่องเรือบนแม่น้ำเธมส์ แล้วแสดงดนตรีระหว่างที่เรือล่องผ่านพระราชวังเวสต์มินสเตอร์กระทั่งขึ้นฝั่ง ผลคือผู้ร่วมงานทั้งหมดบนเรือถูกจับเกือบทั้งหมด ทั้งสมาชิกวง มัลคอล์ม แม็คลาเรน ผู้จัดการวง และ วิเวียน เวสต์วูด เจ้าแม่แฟชั่นพังค์ 

ประชาชนส่วนหนึ่งไม่พอใจเพลงนี้ และยังถูกแบนจากสื่อหลักในประเทศ แต่กลับได้รับความนิยมจากแฟนเพลงวัยรุ่น จนคาดว่าเพลงจะทำยอดขายขึ้นอันดับ 1 แต่ปรากฏว่าทำได้เพียงอันดับ 2 รองจากเพลงบัลลาด I Don't Want to Talk About It ของ ร็อด สจ๊วร์ต โดยมีการตั้งข้อสงสัยว่า บีบีซีซึ่งนำเสนอชาร์ตเพลงดังกล่าวอาจแสดงข้อมูลที่ไม่เป็นจริง เนื่องจากไม่ต้องการให้บทเพลงต่อต้านราชวงศ์อังกฤษขึ้นอันดับหนึ่งในช่วงพิธีพิธีรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ทางบีบีซีไม่เคยยอมรับหรือปฎิเสธจนถึงวันนี้ 

ผ่านมา 35 ปี God Save the Queen กลายเป็นบทเพลงที่เป็นตัวแทนความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมพังค์ และได้รับการยกย่องจากจากนิตยสาร Rolling Stone และ NME ให้เป็นหนึ่งในเพลงที่ยอดเยี่ยมที่สุด ขณะที่นิตยสาร Q ยกให้เป็นเพลงที่ตื่นตาตื่นใจเพราะดีไซน์ของหน้าปกอัลบั้มที่ออกแบบโดย จอห์น ลีดอน อดีตนักร้องนำกล่าวว่าคนมักโจมตีเพลงนี้ว่าต่อต้านความเป็นอังกฤษ แต่เนื้อหาเพลงนี้คือการแสดงความห่วงใยต่อเพื่อนร่วมชาติชาวอังกฤษ โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นแรงงานผู้ถูกปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากความเหลื่อมล้ำในสังคม 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง