สิ้น
เมื่อเพิ่มอุณหภูมิถึง 451 องศาฟาเรนไฮต์ กระดาษจะลุกไหม้ หลักการตามทฤษฎีวิทยาศาสตร์นี้ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อหนังสือ Fahrenheit 451 กล่าวถึงโลกอนาคตที่รัฐบาลมีคำสั่งให้พนักงานดับเพลิงเผาหนังสือด้วยเกรงว่าประชาชนจะฉลาดเพราะการอ่าน บอกถึงความกังวลของ เรย์ แบรดบิวรี นักเขียนจินตนิยายชื่อดัง ต่อการสูญหายของความรู้ในโลกอนาคต
เนื้อหาใน Fahrenheit 451 สะท้อนตัวตนของ เรย์ แบรดบิวรี ผู้หลงใหลในหนังสือ และเติบโตมาด้วยความรักในการอ่าน ละคร และโลกของภาพยนตร์ แทนที่จะศึกษาในวิทยาลัย เขากลับเลือกเรียนรู้ด้วยตนเองจากการอ่านหนังสือในห้องสมุดวันละหลายชั่วโมง และฝึกเขียนนิยายทุกวัน
แม้ขัดสนรายได้ แต่ก็มุ่งมั่นเอาดีทางนี้ด้วยการเช่าเครื่องพิมพ์ดีดชั่วโมงละ 20 เซนต์เพื่อเขียนงานเรื่อง Fahrenheit 451 จนเสร็จภายใน 9 วัน นิยายที่ผลิตจากค่าเช่าเครื่องพิมพ์ดีดทั้งหมด 9 เหรียญ 80 เซนต์เมื่อปี 1953 กลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสิ่งประดิษฐ์แห่งศตวรรษที่ 21 ตั้งแต่ โทรทัศน์ที่สามารถสื่อสารสองทาง การสื่อสารไร้สาย และอุปกรณ์พกพาอย่างไอพอด
แบรดบิวรี เป็นหนึ่งในนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ไม่กี่คนที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงจากโลกวรรณกรรม ผลงานของเขามีอิทธิพลต่อผู้คนมากมาย หนึ่งในนั้นคือ The Martian Chronicles ผลงานรวมเรื่องสั้นที่เสียดสีระบบทุนนิยม และเชื้อชาติของมนุษย์ ที่มีต่อชาวพื้นเมืองบนดาวอังคาร ซึ่งได้รับการตีพิมพ์กว่า 30 ภาษา และนำมาสร้างเป็นละครและวิดีโอเกมมากมาย รวมไปถึงการออกแบบยานสำรวจบนดาวอังคารขององค์การนาซ่า ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากจินตนาการอันไม่สิ้นสุดของเขา
นักเขียนคนดัง สตีเฟน คิง รวมถึง สตีเวน สปิลเบิร์ก ต่างยอมรับว่า จินตนาการของ แบรดบิวรี มีอิทธิพลต่อการทำงานของเขาไม่น้อย นักเขียนคนดังเสียชีวิตในวัย 91 ปีและได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลผู้เป็นอมตะอย่างแท้จริง