ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาตำรวจได้กวดขันจับกุมยึดรถจักรยานยนต์อย่างต่อเนื่อง ได้ผู้ต้องหากว่า 300 คน แต่ดูเหมือนว่าปริมาณของเหล่านักบิดกลับไม่ได้ลดลง ตำรวจจึงปรับแผนด้วยการเข้าตรวจจับร้านแต่งรถจักรยานยนต์แทน เพียง 1 สัปดาห์ สามารถยึดรถแต่งได้เกือบ 10 คัน และอุปกรณ์ท่อไอเสียดัดแปลงมากกว่า 400 ชิ้น รวมถึงนักบิดหลายคนแม้จะถูกศาลพิพากษาให้กักขังเป็นเวลา 1 เดือน แต่เมื่อพ้นโทษออกมาก็ยังคงหวนกลับสู่สนาม
ดังนั้นมาตรการของตำรวจที่มีอยู่อาจจะยังไม่เพียงพอ และยิ่งปัจจุบันที่การเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ทำได้ง่ายแม้ไม่มีเงินก็สามารถออกรถจักรยานยนต์ได้ ทำให้การปราบปรามเป็นไปด้วยความยากลำบาก
ด้านสมหมาย ทรงบรรพต เจ้าของร้านแต่งรถจักรยานยนต์ ยอมรับว่า การปรับแต่งรถเพื่อเข้าแข่งขันตามสนามแข่งนั้นไม่มีกำไร แต่จะเห็นผลด้านชื่อเสียง หากผลการแข่งชนะและเป็นที่รู้จักในกลุ่มนักบิดนั่นหมายความว่ารายได้ของร้านก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย ที่สำคัญผู้ชมการแข่งขัน จะเห็นผลงานและนำรถไปแต่งที่ร้าน
พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยอมรับว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การควบคุมรถจักรยานยนต์ซิ่งทำได้ยาก เพราะการครอบครองหรือเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ทำให้ง่ายจะเห็นจากการชักจูงใจลูกค้า โดยมีโปรโมชั่นฟรีเงินดาวน์ หรือมีเงินแค่ 1 บาท ก็สามารถออกรถได้แล้ว แต่ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะเป็นเรื่องของธุรกิจ
จากการสำรวจร้านขายรถจักรยานยนต์ย่านลาดปลาเค้า พบว่ามีการแข่งขัน โปรโมชั่นขายรถจักรยานยนต์เป็นจำนวนมาก ทั้งฟรีดาวน์ ดาวน์ต่ำ ผ่อนนาน และนางนงเยาว์ หิรัญชัย เจ้าของร้านจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ยอมรับว่า ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อดึงลูกค้า โดยระบุว่า ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนวัยทำงานและคงต้องเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่ต้องดูแล หากหลังจากซื้อไปแล้วผู้ที่นำไปใช้จริงจะเป็นเยาวชน
เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนกองบัญชาการตำรวจนครบาล จึงตั้งศูนย์ข้อมูลปราบปรามรถแข่ง หรือที่เรียกว่า "เหยี่ยวถนน" ขึ้น เพื่อรับเรื่องร้องเรียนความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน สามารถแจ้ง ไปได้ที่สายด่วน 1197 และจะมีชุดเฉพาะกิจออกปฏิบัติการทันที