สถานการณ์ยะไข่ยังน่ากังวล คาดมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น

ต่างประเทศ
13 มิ.ย. 55
15:23
17
Logo Thai PBS
สถานการณ์ยะไข่ยังน่ากังวล คาดมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น

ทูตพิเศษของสหประชาชาติ เดินทางถึงรัฐยะไข่ เพื่อประเมินสถานการณ์เหตุจลาจลที่ดำเนินต่อเนื่อง 5 วัน สร้างความเสียหายแก่อาคารบ้านเรือนกว่า 1,000 หลัง และมีรายงานผู้เสียชีวิต 8 คน แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ยอดผู้เสียชีวิตจะสูงขึ้น

ภาพจากสถานีโทรทัศน์ MRTV ของพม่า เผยให้เห็นความเสียหายจากเหตุจลาจล และการเผาทำลายอาคารบ้านเรือนต่างๆ ทั้งในเมืองซิตต่วย เมืองเอกของรัฐยะไข่ และในเมืองใหญ่เมืองอื่นๆ ทั่วรัฐ โดยมีรายงานว่ามีบ้านเรือน และอาคารถูกเผาเสียหายไปแล้ว 1,662 หลัง นับตั้งแต่เหตุจลาจลเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันศุกร์ (8 มิ.ย.) ที่ผ่านมา

ส่วนยอดผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการยังคงอยู่ที่ 8 คน แต่มีรายงานว่ายอดเสียชีวิตล่าสุดขณะนี้ เพิ่มเป็น 25 คน ขณะที่ ส.ส.มุสลิมรายหนึ่ง อ้างว่ายอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงถึง 50 คน เพราะตำรวจปล่อยให้กลุ่มคนพุทธ ละเมิดเคอร์ฟิว และก่อเหตุเผาบ้านเรือนคนมุสลิม

ด้าน พล.อ.หล่า มินต์ รมต.กลาโหมของพม่า เข้าเยี่ยมผู้อพยพทั้งคนพุทธ และคนมุสลิม ตามที่พักชั่วคราว พร้อมมอบสิ่งของช่วยเหลือ เพื่อให้กำลังใจแก่ผู้ที่ต้องหนีออกจากบ้านเรือนกว่า 4,000 คน ไปพักตามที่พักชั่วคราว 6 แห่ง เพื่อความปลอดภัย เหตุว่นวายที่เกิดขึ้น ทำให้นานาชาติเรียกร้องให้รัฐบาลพม่า เร่งควบคุมสถานการณ์โดยเร็วเพื่อไม่ให้บานปลาย และขอให้ทุกฝ่ายอดทนอดกลั้น

ด้านประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ร่วมพูดคุยกับคณะผู้แทนทูตของชาติผู้บริจาค และอธิบายถึงแผนการของรัฐบาล ในการแก้ไขสถานการณ์ความรุนแรงในยะไข่ โดยมีรายงานว่าคณะผู้แทนพอใจมาตรการของรัฐบาล ขณะที่วันนี้ผู้แทนเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เดินทางถึงเมืองซิตต่วยในรัฐยะไข่แล้ว เพื่อเข้าตรวจสอบ และประเมินสถานการณ์ เพื่อช่วยเหลือชาวยะไข่ โดยจะเดินทางไปยังเมืองมงดอว์ ที่อยู่พรมแดนติดกับบังคลาเทศ และเป็นเมืองที่การจลาจลเริ่มต้นขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ดูแลด้านพรมแดน รวมทั้งผู้แทนศาสนาอิสลามอีก 15 คน ร่วมเดินทางไปด้วย

เหตุตึงเครียดในยะไข่ ทำให้ชาวโรฮิงยาที่นับถือศาสนาอิสลามตกเป็นเป้าโจมตี ดังนั้นจึงมีชาวโรฮิงยาพยายามลอยเรือหนีออกจากยะไข่อย่างต่อเนื่อง หวังข้ามแดนไปบังคลาเทศ แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ยามชายฝั่งบังคลาเทศขัดขวาง และผลักดันเรืออย่างน้อย 14 ลำ รวมชาวโรฮิงยา 550 คน ให้กลับสู่ทะเลอีกครั้งหนึ่งหลังให้น้ำ และอาหาร

ขณะที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) เรียกร้องให้รัฐบาลบังคลาเทศอนุญาตให้ชาวโรฮิงยาลี้ภัยในประเทศได้ เพราะชาวโรฮิงยาส่วนใหญ่ที่่ล่องเรือมาขอความช่วยเหลือเป็นเด็ก ผู้หญิง และผู้ได้รับบาดเจ็บ

ส่วนความเคลื่อนไหวของ นางออง ซาน ซูจี วันนี้เธอเดินทางไปยุโรปเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี ท่ามกลางฝูงชนที่มารอส่งเธอ โดยนางซูจีกล่าวกับผู้สื่อข่าวสั้นๆ ว่าการเดินทางออกนอกประเทศแต่ละครั้ง เธอมีความรู้สึกเหมือนเดิมทุกครั้ง คือการได้รับทราบว่าพม่ายังล้าหลังเพียงใด โดยการเดินทางครั้งนี้ นางซูจีมีกำหนดเยือนสวิตเซอร์แลนด์, นอร์เวย์, ไอร์แลนด์ และอังกฤษ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง