เครือข่ายเกษตรพันธะสัญญา ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือและดูแลหนี้สินของเกษตรกร ซึ่งได้ระบุว่าระบบเกษตรพันธะสัญญา เป็นการชักชวนให้เกษตรกรรายย่อยเข้าร่วมทำการผลิต โดยมีข้อผูกพันกับบริษัทหรือผู้ประกอบการ ที่ใช้ระบบนี้เป็นเครื่องมือในการลงทุน นายอุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานคณะทำงานเครือข่ายเกษตรพันธะสัญญา กล่าวว่าที่ผ่านมาระบบดังกล่าวถูกนำเสนอผ่านการรับรู้ของสาธารณะ ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และแก้ปัญหาตลาดสินค้าเกษตรของไทย รวมถึงการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกร โดยได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐอย่างต่อเนื่อง แต่ข้อเท็จจริงไม่มีกลไกของรัฐหรือกฎหมายที่เข้ามาช่วยกำกับดูแล หรือให้ความเป็นธรรมกับเกษตรกร ที่มีมากถึง 5 แสนครัวเรือน แต่กลับถูกครอบงำอยู่ในระบบธุรกิจแบบผูกขาด
ด้านนายโชคสกุล มหาค้ารุ่ง เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากระบบนี้ บอกว่า ระบบเกษตรพันธะสัญญา เป็นระบบที่ทำลายทั้งสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และทรัพย์สิน เกษตรกรกำลังถูกหลอกจากบริษัทให้ลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่และให้ความหวังใน เรื่องรายได้ และความมั่นคงที่จะมีตลาดรองรับสินค้าอย่างแน่นอน ทำให้เกษตรกรเข้าร่วมลงทุนในลักษณะนี้ แต่สุดท้ายทำให้เกษตรกรหลายคนต้องหมดตัว โดนไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาล
ขณะ ที่นายไพสิฐ พานิชย์กุล นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า จากการวิจัยพบว่าระบบเกษตรพันธะสัญญาเป็นการลงทุน โดยไม่ได้ลงทุน แต่ที่ผ่านมาสังคมละเลยที่จะพูดถึงความไม่เป็นธรรมภายใต้ระบบนี้ รวมทั้งยังมีผู้ได้รับผลกระทบในระยะยาว โดยเฉพาะกระบวนการผลิตในลักษณะเช่นนี้ ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในแง่ของความมั่นคงทางด้านอาหาร ในขณะที่ภาครัฐ ก็ยังไม่ได้เข้ามาแทรกแซงกลไกในการคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบเท่าที่ควร