“เกมขนผักมหาสนุก” จากรั้วมช. คว้าแชมป์ออกแบบมินิเกม แนวคิดอยู่อย่างไรให้พอเพียง
โครงการสื่อสร้างสรรค์สังคมออนไลน์ ภายใต้แนวคิด “อยู่อย่างไรให้พอเพียง” ได้ทีมชนะเลิศเกมสร้างสรรค์ความคิดและสังคม
นายธนัช จิรวารศิริกุล ผู้อำนวยการโครงการสื่อสร้างสรรค์สังคมออนไลน์ “อยู่อย่างไรให้พอเพียง” กล่าวว่า Great King City คือเกมออนไลน์ ที่น้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาประยุกต์ใช้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ Facebook มีการทำเกษตรกรรม ปศุสัตว์ และสังคมเมืองขนาดเล็กไปจนใหญ่ โดยใช้หลักการ การใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เป็นหัวใจสำคัญหลักของเกม นอกจากนี้ยังมีระบบเศรษฐกิจต่างๆ ระบบธนาคาร ระบบประกันที่สนับสนุนความรู้จาก บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต ซึ่งจำลองใกล้เคียงกับโลกความเป็นจริง โดยกลุ่มเป้าหมายของเกม เน้นไปที่เด็กและเยาวชน ตลอดจนผู้ที่สนใจและเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายสังคมออนไลน์ Facebook ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษา เรียนรู้ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าว
ทางโครงการมีความประสงค์ในการจัดกิจกรรมเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และยังมีแนวคิดในการพัฒนาเพื่อต่อยอดโครงการในอนาคต จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการฯ ด้วยการประกวดออกแบบมินิเกม กับ Great King City ซึ่งเป็นเกมที่อยู่ในรูปแบบของเกมระยะสั้น แนวคิดของเกมดังกล่าวจะต้องประกอบไปด้วยรายละเอียดของโครงการในพระราชดำริ และน้อมนำแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับมินิเกม เพื่อเป็นการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกัน
หลังจากการประกาศกิจกรรมมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจากทั่วประเทศมากมาย และผ่านเข้ารอบสุดท้ายทั้งหมด 8 ทีม ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้แบ่งผลการให้คะแนนของผู้เข้ารอบเป็น 2 ส่วน คือ คะแนนจากมหาชนผู้เล่นเกม Great King City และคะแนนจากคณะกรรมการ ทีมผู้พัฒนาเกม Great King City ซึ่งคณะกรรมการได้มีมติมอบรางวัลชนะเลิศการประกวดออกแบบมินิเกม กับ Great King City ให้แก่ผลงาน “เกมขนผักมหาสนุก” โดยนางสาวอธิชา ธงไชย และ นายอัฐกร อิทธิเตชสี จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับทุนการศึกษา 100,000 บาท ประกาศนียบัตร พร้อมเป็นสมาชิก Computer arts Thailand และ Computer arts projects ฉบับละ 1 ปี
รองชนะเลิศได้แก่ ผลงาน “เกมโครงการแพทย์อาสามหาสนุก” โดยนายธนะชัย แย้มพลอย, นางสาวศศิกานต์ เพ็งสมบัติ และนางสาวอัจฉริยาภรณ์ หงษา จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้รับทุนการศึกษา 20,000 บาท
อันดับที่ 3 ผลงาน “เกมฝนหลวงสร้างรอยยิ้ม” โดยนายสิทธิชัย ปัญญาทิพย์, นายโกสิทธิ์ ตันฑ์เอกคุณ และนายฉัตรเฉลิม เกิดสวัสดิ์ จากมหาวิทยาลัยรังสิต ได้รับทุนการศึกษา 20,000 บาท
อันดับที่ 4 ผลงาน “เกมเกษตรทฤษฎีใหม่” โดยนายสุกฤษฏ์ จิตต์ชอบ จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้รับทุนการศึกษา 10,000 บาท
อันดับที่ 5 ผลงาน “เกมโครงการจัดการสิ่งแวดล้อม” โดยนายวาทิศ ตันติเหมันต์, นายสุรสรรค์ อาภัสรพรหม และนายศรัณยู มุสิกะสิน จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้รับทุนการศึกษา 10,000 บาท